การสูญสิทธิวงโคจรดาวเทียม เสียสมบัติชาติ และอาจถูกยกเป็นวาระทางการเมือง

ประเทศไทยอาจเสียสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 3 ตำแหน่ง เขย่าขวัญ กสทช. และอาจลามไปเป็นประเด็นทางการเมืองให้ฝ่ายตรงข้ามอ้างรัฐธรรมนูญ ภายในการนำรัฐบาลนี้ไม่สามารถรักษา “สมบัติชาติ” ไว้ได้

วาระที่น่าจับตามองของวงการเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมอีกวาระ คือ การประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยที่ได้รับจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU- The International Telecommunication Union)

ที่ยังคงเหลืออยู่ 3 ตำแหน่ง คือ ที่วงโคจร 50.5 – 51 องศาตะวันออก และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก

เวลานี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แบ่งเป็น 2 ชุด ยังไม่มีเอกชนรายใดเข้าประมูลเพื่อขออนุญาตใช้งาน

กสทช. มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียม ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และ “สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม” อันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

ยังมีการแก้ไข มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2562 ฉบับที่ 3 ให้อำนาจ กสทช. เพิ่มขึ้นในการทำหน้าที่ในการได้มาและรักษาไว้ซึ่งวงโคจรดาวเทียม รวมทั้งทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานอำนวยการในการประสานกับ ITU

ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดแบ่งสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ได้รับการประสานจาก ITU ทั้งสิ้น 7 วงโคจร 21 ข่ายงาน ออกเป็น 5 ชุด ให้เอกชนเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตใช้งาน 20 ปี ซึ่งมี บมจ. ไทยคม ประมูลไป 2 ชุด โดยเป็นวงโคจรเดิมที่มีดาวเทียมไทยคมให้บริการอยู่แล้ว และมีความพร้อมที่จะให้บริการต่อ

อีกรายคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ได้ไป 1 ชุด เป็นตำแหน่งใหม่ที่ 126 องศาตะวันออก ยังไม่พร้อมส่งดาวเทียมเพราะอยู่ระหว่างประสานความถี่กับ ITU

ยังเหลืออยู่อีก 2 ชุด ที่ไม่มีคนสนใจ เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวมีขอบเขตยิงสัญญาณลงมาบนพื้นโลก (Foot print) ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก และในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำตลาดได้ยาก ไม่คุ้มแก่การลงทุน และยังไม่มีวี่แววว่าจะมีใครสนใจ

เพราะหากพูดถึงเทคโนโลยีดาวเทียมแล้ว บริษัทไทยที่มีความสามารถพอที่จะบริหารจัดการได้คงมีแต่ “ไทยคม” อยู่เพียงรายเดียว เกิดคำถามว่า หาก “ไทยคม” ยังยอมแพ้ราบแล้วใครจะทำ?

แม้ไม่คุ้มค่า และไม่มีเหตุผลใดที่เอกชนจะลงทุน แต่ตำแหน่งวงโคจรที่เหลืออยู่ก็ยังเป็น “ชนักปักหลัง” กสทช. อยู่ดี

เพราะตามหลักการแล้ว “สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม” ไม่ใช่สมบัติของชาติ แต่เป็นของประชาคมโลก ซึ่ง ITU จะจัดสรรให้ผู้ที่ขอใช้ก่อน (first come, first serve) ดังนั้น หากไทยไม่มีการส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจรที่ขอไว้แล้วมีชาติอื่นขอสิทธิไป ITU ก็ต้องให้ผู้ที่พร้อมก่อน

ในขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ของเราระบุว่า “….สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ” ดังนั้นหาก ITU ได้ให้สิทธิแก่ชาติอื่นที่พร้อมก่อน ในบริบทกฎหมายไทย คือเราสูญเสีย “สมบัติของชาติ” นั่นเอง

ประเด็นนี้สร้างความหนักใจไม่น้อยต่อ กสทช. เพราะจะจัดสรรให้ใครเป็นพิเศษก็ยังไม่ได้ ทั้งยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องจัด “ประมูล” ตามกฎหมาย และเมื่อไม่คุ้มค่าลงทุนก็ไม่มีใครประมูล

เวลานี้ ใน กสทช. อยู่ในช่วงพลิกตำราทุกวิถีทางเพื่อจัดสรรสิทธิเข้าใช้วงโคจรให้ได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้ เพราะหากล่าช้าจนสูญเสียไปก็กลายเป็นว่า กสทช. ไม่สามารถทำตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่ายังคาดการณ์ผลที่ตามมาไม่ได้ว่าจะลงเอยที่ “ศาล” ใด

ดูเหมือนปัญหานี้จะเป็นแค่ของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับฝ่ายการเมืองใดๆ แต่ด้วยคำว่า “สมบัติของชาติ” ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างวาทกรรมทางการเมืองที่สามารถยกรัฐธรรมนูญอ้างได้ว่า “ภายใต้การนำของรัฐบาลนี้” ประเทศไทยสูญเสียวงโคจรดาวเทียมไป

แม้ข้ออ้างจะหลุดลอยจากข้อเท็จจริงไปมาก เพราะวงโคจรไม่ได้เป็นสมบัติชาติ และไม่ได้เป็นหน้าที่รัฐบาล

แต่ข้อกล่าวหานี้น่าจะเป็นอาหารจานโอชะที่ใช้ล่อกลุ่มคนที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง และกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลทุกวิถีทางมาลิ้มรสได้มาก เพื่อโหมกระแสโจมตีได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะสูญเสียสิทธิเข้าใช้วงโคจรอันเป็นสมบัติของประชาคมโลกไปนั้น ขึ้นกับว่าจะมีประเทศใดในโลกพร้อมจะส่งดาวเทียมในวงโคจรนั้นๆ และร้องขอ ITU ตัดหน้าไทยไปก่อน

จึงน่าจะยังมีเวลามากพอให้ กสทช. จัดการปมเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปได้สองทาง คือ การแก้ไขวิธีการประมูลเป็นการคัดเลือกคุณสมบัติผู้สมควรได้รับสิทธิ (beauty contest)

อีกวิธีคือการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเอาคำว่า “สมบัติชาติ” ออกไปก่อน

ไม่ว่าออกทางใดก็ยังต้องใช้เวลา และต้องลุ้นไม่ให้มีประเทศใดชิงขอสิทธิตัดหน้าไปก่อน