“ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน” ไล่เรียงประเด็นการเสนอแก้ไข ม. 112 โดยพรรคก้าวไกล ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวอย่างละเอียด เป็นการให้เหตุผล และสร้างความชอบธรรมให้กับสมาชิกวุฒิสภาที่จะไม่ไว้วางใจ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ
- ตามหลักการที่พรรคก้าวไกลนำเสนอในการหาเสียง ปรากฏทั้งข้อความและแผ่นภาพ ประกอบกับร่างกฎหมายที่เคยยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 แต่ไม่ได้รับการบรรจุ จะพบว่าไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายทั่วไปมาตราหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่จะกระทบทั้งระบอบและระบบ
- เป็นการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข มีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 อันเป็นบทหลักมาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์ หรือเสมือนเป็นการแก้รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ทางประตูหลัง นี่คือประเด็นหลักที่จะกระทบระบอบ…สังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม
- สำหรับคนไทยโดยทั่วไป บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่กฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็น ‘มรดก’ ของวัฒนธรรมและจริยธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์
และมีลักษณะ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานะสูงส่งทั้งทางศาสนาและสังคม อีกด้านหนึ่งคือการที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจวบจนปัจจุบันทรงมีความใกล้ชิดกับประชาชนเป็นที่เคารพรักสักการะของประชาชนอย่างยิ่ง ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน และนำพาประเทศออกจากวิกฤติใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าในแต่ละยุคสมัย ทำให้เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ที่มีชีวิตมายืนยาวพอได้ประจักษ์ในความจริงแก่สายตา จึงรู้สึกยอมรับไม่ได้ และต้องการรักษา ‘มรดก’ นี้ไว้ให้เป็นรากฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทย - ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่าบทบัญญัติคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ประเด็นจำเป็นเร่งด่วนอันจะหลีกเลี่ยงมิได้จนจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันรัฐสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน
ตรงกันข้ามหากเร่งนำประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันอันที่เคารพสักการะและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและจริยธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันในรัฐสภาโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤตใหญ่ได้ - ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 26 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 นี้สำคัญมาก สำคัญไม่แพ้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เนื่องจากจะมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลโดยตรง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างฯ มาครั้งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564 แต่แม้เสนอแล้ว ก็ไม่เคยได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลยจนครบวาระ แม้จะมีการทวงถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลหลายครั้ง
เพราะนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในขณะนั้น ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ให้รับผิดชอบงานด้านพิจารณาบรรจุเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุม วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระทั้งนี้ เป็นการวินิจฉัยโดยรับฟังความเห็นทางกฎหมายจากสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายประจำที่รับผิดชอบโดยตรง - พรรคก้าวไกลหาเสียงว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ 45 ฉบับภายใน 100 วันแรก จึงต้องการตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ร่างฯ แก้ไขมาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 ฉบับ
ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ และหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งที่อาจได้รับมอบหมาย จะวินิจฉัยอย่างไร และมีวิธีบริหารจัดการปัญหาอย่างไร เหมือนหรือต่างจากประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับมอบหมายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว “ตัวตน” รวมทั้ง “พรรคต้นสังกัด” ของประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญยิ่งต่อคำตอบนี้
อ่านโดยละเอียด พร้อมทั้งตีความระหว่างบรรทัด ย่อมชัดว่า นี่คือตัวแทนความเห็นของพลังจารีตในสังคมไทยที่มีต่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “พรรคก้าวไกล” ทั้งย่อมเป็นแนวโน้มต่อการเลือก “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ-ประมุขฝ่ายบริหาร” ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้