ย้อนกลับไปในปี 2535 ปิยะ ปิตุเตชะ ก้าวลงสู่สนามการเมืองระดับประเทศในนาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคชาติพัฒนา ด้วยการชักชวนของกำนันสาคร ปิตุเตชะ ผู้เป็นพ่อ ให้ลงสนามการเมืองครั้งแรกด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างกำนันสาคร (กลุ่มบ้านค่าย) และยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ์ ส.ส. (กลุ่มบ้านเพ) ที่ดีต่อกันในขณะนั้น ซึ่งนางกิมห่อ ลี้เซ่งเฮง หรือเจ๊ฮ้อ พี่สาวนายยงยศ ระบุถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองว่า
“เตี๋ยของส.ส.ยงยศ เสียชีวิต ตั้งแต่ส.ส. ยงยศยังเล็กอยู่ ดังนั้น ส.ส.ยงยศ จึงรักและเคารพกำนันสาคร ปิตุเตชะ แบบบิดา และนางทอด ปิตุเตชะ ก็เอาใจใส่ดูแลส.ส. ยงยศเป็นอย่างดี ดูแลเหมือนลูกของตนเอง และถ้าส.ส. ยงยศ หาเสียงในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย กำนันสาคร ปิตุเตชะ ก็ช่วยสนับสนุนเต็มที่” คำกล่าวของเจ๊ฮ้อ เป็นการคลี่ความสัมพันธ์ของทั้งสองตระกูลนี้ให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจนกระทั่งคลี่คลาย และถึงจุดแตกหัก
และแม้ในปี 2535 ปิยะ ซึ่งต่อมาคือ “เสี่ยช้าง” แห่งจังหวัดระยอง จะแพ้การเลือกตั้งในครั้งแรกแต่ก็ไม่ทำให้ถอดใจพาเขากลับมาชนะได้ ในการลงเลือกตั้งในครั้งที่สองปี 2538 สังกัดพรรคชาติพัฒนาเช่นเดียวกับส.ส.ยงยศ และชนะเรื่อยมาจนถึงปี 2539 ต่อมาในปี 2544 ได้เข้ามาสังกัดพรรคชาติไทย ภายใต้ร่มเงาของบรรหาร ศิลปอาชา และอยู่ในกลุ่มก๊วนเดียวกับกลุ่ม 16 โดยมีเนวิน ชิดชอบ เป็นหัวเรือใหญ่
และในปี 2548 ปิยะ วางมือทางการเมืองระดับประเทศและส่งต่อให้ครอบครัวปิตุเตชะ ที่ก่อนหน้านั้นได้ขยายความใจโตและใจถึง ไปทั่วเมืองระยองจนสามารถนำ ตี๋ สาธิต (น้องชาย) และเสี่ยทุ่น ธารา ปิตุเตชะ (ลูกพี่ลูกน้องต่างมารดา) เข้าลงสนามการเมืองได้ในเวลาต่อมา แต่กระนั้น ตระกูลปิตุเตชะ
ด้วยวิถีทางทำการเมืองที่แตกต่างกันทำให้สาธิตและธารา สังกัดพรรคการเมืองต่างขั้วกัน โดยสาธิตนักการเมืองหนุ่ม เลือกที่จะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีปณิธานมุ่งทำการเมืองด้วยตัวเอง และธาราเลือกสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคเดียวกันกับ ยงยศ แห่งกลุ่มบ้านเพ
แต่กระนั้นความสัมพันธ์จากที่เคยแนบแน่นก็เริ่มคลี่คลายลง หลังจากสปอร์ตไลท์ของสนามท้องถิ่นอย่างอบจ. พาโชคชะตาของปิยะ ปิตุเตชะ ให้กลับเข้าสู่วงการเมืองจากผู้กำกับสู่นักแสดงอีกครั้ง แต่กระนั้นก็ต้องแลกมากับความขัดแย้ง
เมื่อเกิดการเลือกตั้งอบจ.ครั้งแรก 14 มี.ค. 2547 พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร กฤษณะราช จากการสนับสนุนของกลุ่มบ้านค่าย ได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งคือไพบูลย์ อรุณเวสสะเศรษฐ์ จากกลุ่มบ้านเพแต่ต่อมาถูกกกต.ตัดสินเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ครั้งที่สอง กลุ่มบ้านค่าย หนุนให้นายสุวิทย์ เหล่าฤทธิไกร ซึ่งพื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช ได้คะแนนจากการเลือกตั้งครั้งแรกเพียง 8 พันคะแนน ทำให้นายไพบูลย์ย่ามใจว่าจะต้องชนะเป็นแน่ แต่กระนั้นคะแนนความสงสารของชาวบ้านที่มีต่อพ.ต.อ.พนา ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทำให้พ.ต.อ.พนา เข้ามาช่วยเหลือสุวิทย์อีกแรงโดยติดป้าย ร่วมกันต่อสู้ความไม่เป็นธรรมโปรดเลือก ดร.สุวิทย์ และป้ายผ้ารักพนา กาเบอร์ 3 ซึ่งเป็นเบอร์หมายเลขของสุวิทย์
หลังจากได้รับชัยชนะกว่า 9 หมื่นคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 2 หมื่นคะแนน ส่งให้เขานั่งนายกได้สำเร็จแต่ซ้ำร้ายก็ตกม้าตายเพราะถูกกกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยเหตุหลอกลวงประชาชนว่าจบปริญญาเอกทั้งๆ ที่กำลังเรียนอยู่
ครั้งที่สาม กลุ่มบ้านค่าย หนุนให้นายบารมี สอนเกิดสุข อดีตคนของกลุ่มบ้านเพ คว้าเก้าอี้นายกฯ ได้สำเร็จ แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต้านหลังจากที่บารมีมีความเกรงใจกลุ่มบ้านเพ จึงเลือกให้นายไพบูลย์เป็นรองนายกฯคนที่ 1 และเลขานายกอบจ.ซึ่งเป็นคนของกลุ่มบ้านเพ แต่ก็ไม่สามารถบริหารงานหลังจากการประนีประนอมระหว่างสองกลุ่มไม่เป็นผลและทำให้ลาออกในเวลาต่อมา
ครั้งที่สี่ 19 พ.ย. 49 นายสิน กุมภะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบ้านเพ ประกาศลงสมัครนายกอบจ. แข่งกับ ปิยะ ปิตุเตชะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบ้านค่าย ผลปรากฏว่า นายสิน ได้รับชัยชนะกว่าคู่แข่งอย่างนายปิยะกว่า 3,000 คะแนน แต่ผลการเลือกตั้งดังกล่าวต้องสะดุดลงเมื่อ กกต.รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียงแค่ 5 เดือน
ครั้งที่ 5 ปิยะ ปิตุเตชะ หรือ เสี่ยช้าง แกนนำกลุ่มบ้านค่าย กลับมาเป็นผู้ชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 50 ด้วยคะแนน 88,621 คะแนน ตามมาด้วยอันดับ 2 นายสิน กุมภะ เบอร์ 2 ได้คะแนน 63,047 คะแนน
ชัยชนะอย่างท่วมท้นและการแผ่ขยายอำนาจของกลุ่มบ้านค่าย (ปิตุเตชะ) แสดงถึงการครองอำนาจนำในพื้นที่ได้อย่างเด่นชัดและลงตัว ขณะที่ ผู้เคยเกี่ยวดองพ้องกันในทางการเมืองอย่างกลุ่มบ้านเพ (อรุณเวสสะเศรษฐ์) ต้องลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และผลักให้กลุ่มบ้านเพ ต้องหาพันธมิตรใหม่
โดยดึงส.ส. เสริมศักดิ์ การุญ อดีตส.ส.เขตหลายสมัยซึ่งย้ายไปอยู่บัญชีรายชื่อ ไทยรักไทยเข้ามาสนับสนุน ความขัดแย้งที่เห็นแผลแห่งความแตกหักคือในปี 2544 ที่สาธิต ปิตุเตชะ จากพรรคปชป. ชนะนายยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ์ ส.ส.หลายสมัยของกลุ่มบ้านเพ ในสนามการเลือกตั้งส.ส. เขต 1 อำเภอเมืองซึ่งทิ้งห่างไปกว่า 1 หมื่นคะแนน
และแม้ดูเหมือนความขัดแย้งจะคลี่คลายลงหลังปี 2548 หลัง “ยงยศ” กลับมาทวงคืนเก้าอี้เดิมได้อีกครั้ง แต่ชัยชนะเพียงแค่ 1,000 คะแนน ก็ไม่สร้างความมั่นคงมากนัก สุดท้ายความดีใจก็อยู่กับกลุ่มบ้านเพไปได้ไม่นานนัก เมื่อการเมืองระดับชาติบีบให้ไทยรักไทยต้องหายไปในฉากทัศน์ทางการเมืองและต่อเนื่องด้วยการรัฐประหาร
สถานการณ์จึงยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงกระทั่งแตกหัก
การเข้ามารวมเป็นขั้วเดียวในพรรคการเมืองสีฟ้าของ ธารา ปิตุเตชะ ใต้ร่มเงาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2550 ทำให้การวางอำนาจในพื้นที่ถูกจัดสรรไปอย่างลงตัวทั้งการเมืองระดับชาติและการเมืองในระดับท้องถิ่น
เรื่อยมาหลังจากปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ตระกูลปิตุเตชะครองพื้นที่อำนาจในเมืองระยองได้อย่างสมบูรณ์ มีทั้งผู้เสนอตัวสมัครส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นวิชัย ล้ำสุทธิ หมอบัญญัติ เจตนจันทร์ ต่างก็ได้รับการเลือกตั้งภายใต้ร่มเงาของกลุ่มบ้านค่าย (ปิตุเตชะ) และฐานคะแนนเสียงส่วนบุคคล ประกอบกับการเลือกตั้งอบจ. ในวันที่ 21 สิงหาคม 2554 หลังเสี่ยช้าง ปิยะ ปิตุเตชะ ครบวาระ ก็กลับมาดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย ยิ่งทำให้จังหวัดระยองในการเลือกตั้งทั่วไป ประชาธิปัตย์กวาดได้หมดทั้ง4 เขต
การดำรงตำแหน่งคู่ขนานของพี่น้องตระกูลปิตุเตชะนี้ ทำให้ประชาธิปัตย์กวาดเก้าอี้ได้ต่อเนื่องแม้ในปี 2562 จะพลาดท่าเสียทีในเขต 4 ให้กับสมพงษ์ โสภณ จากพรรคพลังประชารัฐ แต่ในการเลือกตั้งอบจ.ปี 2563 เสี่ยช้างต้องออกมาปรับลุคใหม่เพื่อทานกระแสคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น จากเสี่ยช้าง กลายมาเป็นอาช้าง ปิยะ ส่งให้อาช้าง ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ต่อในสมัยที่ 3
ความพยายามปรับเปลี่ยนลุค สไตล์ มีไปจนถึง พี่ตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งขณะนี้เป็นหมอตี๋ รั้งตำแหน่งรมช.สาธารณสุข ที่มีการสร้างการต่อสู้บนสนามพื้นที่ออนไลน์ ภาพลักษณ์ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ สไตล์ง่ายๆ เน้นเข้าหาประชาชน อีกทั้งหมอตี๋ยังมีผลงานทั้งในหน้าที่นิติบัญญัติและฝ่ายบริหารตลอดช่วงระยะเวลาอายุสภาฯ 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ในระยอง แต่เป็นเรื่องระดับช้าง โดยมีหมอตี๋ สาธิต เสี่ยทุ่น ธารา หมอบัญญัติ เป็นแกนหลักในพื้นที่
และแม้ว่าจะมีเสียงกระสานซ่านเซ็นออกมาว่าอาช้าง จะซบเพื่อไทย แต่ก็ออกมากลบข่าว หลังสาธิตประกาศทั้งคู่ยังยืนยันอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แถมประกาศผู้สมัครส.ส. ในนาม #ทีมสาธิต ภายใต้แนวคิด คิด นำ ทำ จริง และ #ภาคตะวันออกต้องพิเศษ
โดยเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 5 เขต คือ เขต1 พศิน ปิตุเตชะ หลายชายของอาช้าง ปิยะ และผู้จัดการทีมฟุตบอลระยอง เอฟซี เขต2 สาธิต ปิตุเตชะ ลงส.ส. เขตเหมือนเดิมเพราะต้องการรักษาฐานคะแนนไว้ เขต3 นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ซึ่งมีคะแนนความนิยมในตัวอยู่จำนวนมาก เขต 4 ธารา ปิตุเตชะ ซึ่งมีการทำงานที่คนในพื้นที่เรียกว่า สามารถครองใจคนและเป็นคนทำงาน, เขต5 ฉัตรชัย ปิตุเตชะ ลูกชายเสี่ยทุ่น ธารา อดีตเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ลงชิงเก้าอี้ในครั้งนี้
และหากการเลือกตั้งในครั้งที่จะถึง 2566 นี้สำเร็จ ส่ง “ปิตุเตชะ” ทั้ง 4 คนเข้าวินชิงชัยครบได้จะถือเป็นการตอกหมุดครั้งสำคัญของตระกูลและขยับขยายไปยังจังหวัดในภาคตะวันออกที่สมบูรณ์ดังความหมายใจของพวกเขา และไม่ว่าจะอย่างไรการเลือกตั้งทุกครั้งย่อมไม่มีใครเป็นของตายหากไม่ทำงาน ไม่เป็นคนของประชาชน แล้ว การสั่งสอนย่อมเกิดขึ้นในวันที่พวกเขาหยิบปากกา กาบัตร และทิ้งดิ่งให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ชนิดที่ไม่ว่าจะเป็น หมาหลง นกแล หรือใครก็ตาม
ที่มา : ประเสริฐ รักเผ่า(2548), เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดโดยตรงของจังหวัดระยอง