จังหวะ “ป.ป.ช.” ผลัดใบ“ป่ารอยต่อ” ยื้อผละอำนาจ

ดูเหมือนมรสุมลูกใหญ่กำลังสาดซัด “ป.ป.ช.” สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อย่างหนัก เมื่อถูกลากเข้าไปพัวพันกับชะตากรรมของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)

ทั้งกรณีถูกกล่าวหาว่า อุ้มช่วยคดี และตกแต่งบัญชีทรัพย์สินให้กับนายตำรวจคนดัง รวมถึงล่าสุดที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร้องคัดค้านการทำหน้าที่ของ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช.

ที่ไม่ร้องเปล่า แต่ยังสาวไส้ถึงเบื้องหลังการเข้าตำแหน่ง และการใช้อำนาจของกรรมการ ป.ป.ช. โยงไปถึงเครือข่าย “ป่ารอยต่อ” ที่ตกเป็นที่ครหามาตลอดอีกด้วย

ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ “องค์กรปราบโกง” แห่งนี้กำลังจะเข้าฤดู “ผลัดใบ” หลังกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ได้รับการแต่งตั้งในยุค “รัฐบาล คสช.” ที่ขณะนี้เหลืออยู่เพียง 3 คนกำลังทยอยหมดวาระในสิ้นปีนี้

ไล่ตั้งแต่ “ประธานกุ้ย“ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะหมดวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 ก.ย.67 ตามด้วย “วิทยา อาคมพิทักษ์-สุวณา สุวรรณจูฑะ” ที่จะครบวาระการทำหน้าที่ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67

การพ้นตำแหน่งของทั้ง 3 คน ไม่เพียงแต่จะต้องมีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.เข้ามาทำหน้าที่แทนเท่านั้น เพราะการที่ พล.ต.อ.วัชรพล พ้นตำแหน่ง ก็ส่งผลให้ต้องมีการเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่

ตามรูปการณ์เมื่อ พล.ต.อ.วัชรพล พ้นตำแหน่งในเดือน ก.ย.67 ก็จะมีการเลือกประธานคนใหม่จากกรรมการ ป.ป.ช.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่

โดยขณะนี้มี ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียง 6 จากจำนวนเต็มตามกฎหมาย 9 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล, วิทยา, สุวณา, สุชาติ ตระกูลเกษมสุข, เอกวิทย์ วัชชวัลคุ และ แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์

ส่วนอีก 2 คนยังถือเป็นเพียง “ว่าที่” คือ พศวัจณ์ กนกนาถ และ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้ว แต่ยังอยู่ในกระบวนการรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ขณะที่อีก 1 ตำแหน่งซึ่ง สว.ชุดปัจจุบันตีตกชื่อ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ไป ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งเมื่อได้ชื่อผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ก็คาดว่าจะต้องรอจนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่เข้ามาลงมติรับรองชื่ออีกครั้ง

พิจารณาตามรายชื่อ 5 กรรมการ ป.ป.ช. และ 2 ว่าที่ กรรมการ ป.ป.ช. โดยไม่นับรวม พล.ต.อ.วัชรพล แล้วก็พบว่า ในแง่ “ความอาวุโส” ก็คงไม่พ้น “วิทยา-สุวณา” แต่การที่ทั้งคู่จะพ้นตำแหน่งหลังประธานคนเก่าในอีกไม่กี่เดือน จึงไม่เหมาะที่จะเลือกให้เป็นประธาน ป.ป.ช.แค่ประเดี๋ยวประด๋าว

แคนดิเดตที่ช่วงชิงเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช.จึงเหลือเพียง 5 คน คือ “สุชาติ-เอกวิทย์-แมนรัตน์” และ 2 ว่าที่อย่าง “พศวัจณ์-ภัทรศักดิ์“

หากเอากันเฉพาะในแง่ “ความอาวุโส” ก็คงต้องยกให้ ”สุชาติ“ ที่แม้อายุยังไม่มาก แต่ก็เข้าสู่ตำแหน่งก่อนเพื่อนที่เหลือ มีโอกาสไม่น้อย อีกทั้งยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า มีสายสัมพันธ์กับ “บ้านป่ารอยต่อ” ที่ถูกกล่าวหาว่า มีสัมปทานครอบงำการทำงานหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งก็ตรงกับเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ด้วย

อย่างไรก็ดี การที่ “ป.ป.ช.สุชาติ” ถูก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรม ที่แม้ผลสอบจะยังไม่มีการสรุปออกมา แต่ก็เชื่อว่าเนื้อหาในหนังสือร้องเรียน ก็น่าจะทำให้ ”สุชาติ” หมดลุ้นขึ้นหัวโต๊ะ ป.ป.ช.ไปแทบจะทันที

แคนดิเดตจึงน่าจะเหลือเพียง 4 คน ที่เมื่อลงลึกในเส้นทางปูมหลังแล้ว ก็คงต้องตัด “แมนรัตน์” อดีตผู้ว่าฯ หลายจังหวัด และอดีตอธิบดีกรมการปกครอง ที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.เพียงคนเดียวที่มาจาก “สายปกครอง” ออก เพราะกรรมการ ป.ป.ช.และว่าที่กรรมการ ป.ป.ช.ที่เหลือรวมถึง “สุชาติ” ด้วยล้วนแล้วแต่มาจาก “สายตุลาการ”

โดย “สุชาติ” เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ขณะที่ “เอกวิทย์” เคยเป็นประธานศาลอุทธรณ์มาก่อน ส่วน 2 ว่าที่ คือ “ภัทรศักดิ์” ก็เป็นอดีตประธานศาลปกครอง และ “พศวัจณ์” ก็เป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์เช่นกัน

เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ใน 4 อดีตบิ๊กตุลาการที่ว่าไปชื่อชั้นของ “ภัทรศักดิ์” ในวัย 66 ปี กับดีกรีอดีตรองประธานศาลฎีกา ดูจะเหนือกว่าอีก 3 รายที่เหลือ พอสมควร

ซึ่งหาก “ภัทรศักดิ์” ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย

ยุคผลัดใบใน “องค์กรปราบโกง” ยังลามไปถึงระดับสำนักงาน ป.ป.ช.ด้วย เมื่อ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ก็กำลังจะเกษียณอายุราชการช่วงสิ้นเดือน ก.ย.67 นี้ ทำให้ต้องเลือกผู้ที่จะมาเป็น เลขาธิการ ป.ป.ช.คนใหม่ในช่วงไล่เลี่ยกับการเลือกประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวหนาหูว่า มีการวางตัว พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. อาวุโสอันดับ 3 ให้เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.คนใหม่

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจาก พล.ต.ต.อรุณ เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.วัชรพล ในฐานะเจ้านาย-ลูกน้อง ตั้งแต่สมัยยังอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ พล.ต.อ.วัชรพล เป็นผู้โอนย้าย พล.ต.ต.อรุณ ข้ามห้วยจาก สตช.มาเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2562 อย่างไม่เคยมีใครทำมาก่อน

นอกจากนี้เส้นทางการเติบโตภายในสำนักงาน ป.ป.ช.ของ พล.ต.ต.อรุณ ก็พุ่งพรวดมาเข้าไลน์เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.อย่างรวดเร็วผิดปกติ สอดรับกับสายคอนเนคชั่นของ พล.ต.ต.อรุณ ที่เป็นนายเวรของ พล.ต.อ.วัชรพล สมัยเป็น ผบ.ตร. และยังมีพี่ชายคือ พล.ต.อมร อมรวิริยะกุล อดีตหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม สมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม อีกด้วย

ทำให้เชื่อกันว่า “เครือข่ายป่ารอยต่อ” ยังพยายามวางเกมสืบทอดอำนาจในองค์กรปราบโกงแห่งนี้ หลัง พล.ต.อ.วัชรพล ที่ว่ากันว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ประวิตร กำลังจะหมดวาระ

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีแรงต่อต้าน พล.ต.ต.อรุณ อย่างหนัก พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา “ลูกหม้อ” เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.คนใหม่

แต่ด้วย อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. อาวุโสอันดับ 1 จะเกษียณในปีนี้เช่นกัน จึงมีชื่อของ สุรพงษ์ อินทรถาวร ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2563 อาวุโสอันดับ 2 และที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในภารกิจปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากภายในสำนักงาน ป.ป.ช.อยู่ในขณะนี้

ทว่า “ลูกหม้อ” อย่าง “สุรพงษ์” อาจไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะไม่นานมานี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ พล.ต.อ.วัชรพล เป็นหัวโต๊ะ ได้รื้อหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ช. จากเดิมที่ยึดเรื่อง “อาวุโส” เป็นสำคัญเหมือนหน่วยงานอื่นๆ ทั่วไป เป็นการนับว่าใครมี “เงินเดือนสูง” มาพิจารณาเป็นอันดับแรก และให้ถือเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.

คงเดาไม่ยากว่า ผู้ที่ได้อานิสงค์จากหลักเกณฑ์นับอาวุโสใหม่นี้เป็นใคร จนมีเสียงโห่เกรียวสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า ปราบโกงอิท่าไหน ถึงมา “ล็อกสเปก” เสียเองแบบนี้

กลายเป็นว่าในจังหวะที่ ป.ป.ช.กำลังผลัดใบ แต่ขุมข่าย “ป่ารอยต่อ” ก็ยังพยายามยื้ออำนาจไว้ทุกวิถีทาง