“เพื่อไทย” รอขย่ม “ภูมิใจไทย” นายใหญ่ ยึดคืนถอนแค้น

“เพื่อไทย” รอขย่ม “ภูมิใจไทย” ล็อคเป้า “ก.ศึกษา-แรงงาน”
“นายใหญ่” ยึดคืนถอนแค้น

 
ในทางแจ้ง “บิ๊กเพื่อไทย” ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความมั่นใจ “ทีมรัฐมนตรี” ที่เป็นคนของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งยังต้องการส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่นให้กับเพื่อน “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วย
 

แต่ในทางลับ “คีย์แมนเพื่อไทย” ระดับแกนนำก็ยังเดินเกมเสริมใยเหล็กให้เก้าอี้ตัวเอง ให้อยู่ในตำแหน่งเดิม หรือหวังฟลุกได้อัปเกรดเก้าอี้ เช่นเดียวกับพวกที่ยังไม่ได้เข้าฮอก ก็เพลียวิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ จนหัวบันไดชั้น 14 ไม่เคยแห้ง ส่วนสาย “นายหญิงพเนจร” มีรายการไลน์ฝากข้อความไปให้อ่านไม่เคยขาดช่วง
 


ขณะเดียวกันมี “กุนซือ” คอยประเมินผลงานรัฐมนตรี ส่งตรงถึงมือ “นายใหญ่” โดยมีหลายกระทรวงผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่วางเอาไว้ มีเพียงบางกระทรวงที่ผลงานอยู่ในเกณฑ์คาบเส้น ที่สำคัญไม่มีกระทรวงใดมีผลงานสอบผ่าน แม้แต่กระทรวงเดียวเลย




ทำให้รัฐมนตรีโควตา “เพื่อไทย” ต้องเร่งสปีดโชว์กึ๋น โชว์ผลงาน ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้าย ก่อนเข้าสู่โหมดปรับ ครม. เพื่อรักษาเก้าอี้ของตัวเองให้มั่นคง ไม่เปิดช่องให้แคนดิเดตที่ต่อคิวกันยาวเหยียดมาเสียบแทนได้


 
โดยมีช่วงนาทีทองสำคัญ หลังวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ว่ากันว่า “นายใหญ่” จะได้ออกมาประจำแท่นบัญชาการเต็มตัว
 

นอกจากนี้ “กุนซือ” ยังประเมินผลงานภาพรวมของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีบางกระทรวงที่ “เพื่อไทย” ต้องการยึดกลับมาบริหารเอง เพราะมีนโยบายที่เคยสัญญาไว้ช่วงหาเสียง ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม หวังสร้างผลงานให้โดนใจฐานเสียง
 


กระทรวงหลักที่คนในพรรคต่างเรียกร้องว่าต้องยึดมาดูเองไม่พ้น “กระทรวงพญานาค” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถือมีความสำคัญในการสร้างความนิยมให้พรรค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน-ภาคเหนือ

 
เป็นกระทรวงสำคัญที่อยู่ในความครอบครองของ “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเจ้ากระทรวง โดยที่ พรรคเพื่อไทยก็ส่งรัฐมนตรีช่วย ไชยา พรหมา ไปประกบ แต่กลับตกอยู่ใต้เงารัฐมนตรีว่าการ แบบไม่หือไม่อือทำอะไรไม่ได้
 


ทว่า ก็ยังไม่มีเหตุที่มีน้ำหนักพอไปยึดคืนจากพรรคพลังประชารัฐในยามนี้
 


ที่มีกระแสข่าวหนาหูกว่าว่า “กุนซือเพื่อไทย” ต้องการยึด 2 กระทรวงกลับมาดูแลเอง ประกอบด้วย “กระทรวงเสมา” กระทรวงศึกษาธิการ และ “กระทรวงจับกัง” กระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย
 


โดยกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ความดูแลของ “ลุงอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ น้องชาย “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ ถูกจัดอยู่ในโหมดกระทรวงโลกลืม แทบไม่มีผลงานออกมาให้เห็น จนกลายเป็นจุดบอดของรัฐบาล


“เพื่อไทย” เคยหาเสียงชูแคมเปญ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ผ่าน 6 นโยบายดังนี้ 1.นโยบาย One Tablet per Child with free internet, 2.นโยบายสร้างระบบการเรียนรู้ดิจิทัลแบบครบวงจร “แพลตฟอร์ม Learn to Earn”, 3.นโยบายจบปริญญาตรี อายุ 18 ปี, 4.นโยบายเรียนอาชีวะฟรีมีอยู่จริง, 5.นโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุน และ 6.นโยบายโรงเรียน 2 ภาษาทุกท้องถิ่น
 

ฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นเก้าอี้ยุทธศาสตร์ของ “เพื่อไทย” ที่จะโชว์ผลงาน เพื่อดึงแต้ม-แบ่งแต้ม “คนรุ่นใหม่” จากพรรคก้าวไกล แต่หากไม่มีโอกาสเข้าไปดูแลก็ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้
 


ที่สำคัญแกนนำเพื่อไทยหลายคนก็แสดงความพร้อมแต่งตัวรอเป็น “ครูใหญ่” คุมกระทรวงศึกษาธิการ อีกด้วย
 


ด้าน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การดูของ “โกเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ก็มีรายการ “ผิดคิว” ชง ครม.ไฟเขียวค่าแรงขั้นต่ำจิ๊บจ๊อยแค่ 2-16 บาททั่วประเทศ เมื่อช่วงปลายปี 2566 โดยมีผลต้นเดือน ม.ค. 2567 แต่กลับไม่ถูกใจ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และบิ๊กเพื่อไทย จน “พิพัฒน์” อาสามาเคลียร์กับคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อเสนอปรับขึ้นค่าแรงอีกรอบในช่วงเดือน มี.ค.


 
อย่างไรก็ตามเป้าหมายของ “เพื่อไทย” วางเอาไว้ว่าจะต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ให้ได้ภายในปี 2570 จึงต้องวางแผนขึ้นค่าแรงเป็นขั้นบันได การครั้งแรกขึ้นเพียง 2-16 บาททั่วประเทศ (สูงสุด จ. ภูเก็ต 370 บาท – ต่ำสุด จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา 330 บาท) โอกาสที่จะไต่ไปอยู่ในระดับ 600 บาท ภายในระยะเวลาที่เหลืออีก 3 ปีกว่า จะน้อยลงทันที
 

ขณะเดียวกัน “เพื่อไทย” ต้องการผลักดันนโยบายปรับเงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 25,000 บาท หลังเคยทำสำเร็จในปี 2554 โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สามารถทำนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ได้สำเร็จ
 


เมื่อนโยบายสำคัญของ “เพื่อไทย” จำเป็นต้องผลักดันให้ประสบผลสำเร็จ แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหาร กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ความเป็นไปได้ที่นโยบายจะสำเร็จจึงเป็นศูนย์
 


เมื่อจังหวะทางการเมืองของ “ภูมิใจไทย” มีภูมิต้านทานต่ำลง จากกรณี “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี กรณีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญ สั่นสะเทือนจนอาจจะถูกยุบพรรค


แว่วมาว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สอบสวนกรณีเงินบริจาคของ หจก.บุรีเจริญ เข้าข่ายความผิด พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 72 ห้ามรับบริจาค เงิน ทรัพย์สิน โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 


โดย กกต. หยิบคำร้องเดิมจากที่มี “ผู้ร้อง” ค้างเอาไว้แล้ว เนื่องจากไม่มี “คำร้องใหม่” ยื่นเข้ามา ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขึ้นอยู่กับกำลังภายในของ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ผ่าน แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่มีพื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์ จะสกัดทัดทานไว้ได้หรือไม่
 


แต่ไม่ว่าออกหัว-ก้อย ก็ถือเป็นปมที่ฉุดไม่ให้ “ค่ายเซราะกราว” ผงาดเหมือนช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว


 
ทำให้ “นายใหญ่-เพื่อไทย” ถือไพ่เหนือกว่า หากจะขจัดขวากหนามให้พ้นทาง เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้า “ภูมิใจไทย” จะเป็นพรรคหารแต้มจาก “เพื่อไทย” ซึ่งจะทำให้ “ค่ายสีส้ม“ พรรคก้าวไกล ได้เปรียบในสนามเลือกตั้งทันที 
 

หากจะตัด “ภูมิใจไทย” ออกจากสนาม ต้องตัดท่ออำนาจ สลัดทิ้งพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ให้เก็บกระสุนไปสู้ศึก
 


ดีดลูกคิดเสียงในสภาฯ ที่เหลือๆ ถึง 312 เสียงเป็นอย่างน้อย หาก “นายใหญ่-เพื่อไทย” เขี่ย “ภูมิใจไทย” ทิ้งจริง ก็ยังมี พรรคประชาธิปัตย์-พรรคไทยสร้างไทย ถือเป็น “พรรคอะไหล่” พร้อมที่จะเข้าร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว แม้จะทำให้เสียง สส. ขั้วรัฐบาลลดลง แต่สามารถบริหารจัดการได้ 
 


ที่สำคัญเวลานี้ สส.ภูมิใจไทย หลายคนไม่ค่อยแฮปปี้การดูแลของพรรคมากเท่ากับยุค “รัฐบาลประยุทธ์” เนื่องจากไม่ได้ดูแล กระทรวงคมนาคม ที่เคยใช้เป็นยุทธศาสตร์ตรึง สส.เอาไว้ได้ แตกต่างจาก กระทรวงมหาดไทย ที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ทั้งหมด แถม “บิ๊กข้าราชการ” ยังไม่ยอมก้มหัวให้ “บิ๊กสีน้ำเงิน” ด้วย
 


การปรับ ครม.ครั้งหน้า ต้องจับตา “นายใหญ่” จะหักกับ “ภูมิใจไทย-เนวิน” ถึงขั้นถอนพ้นพรรคร่วมรัฐบาล หรือจะยึดโควตากระทรวงกลับมาแค่บางส่วน
 


เพื่อสางแค้นเจ้าของวลี “มันจบแล้วครับนาย” ให้สมใจ