“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อม.ค.66 เพิ่มขึ้น 5.02% ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังสินค้าทั้งกลุ่มน้ำมัน อาหาร เพิ่มขึ้นในอัตราลดลง คาดแนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่อง
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 103.01
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 5.02 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนธันวาคม 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.89 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี และเม็กซิโก รวมถึงประเทศในอาเซียน ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยเงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 32 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 6.08 (AoA) ต่ำเป็นอันดับที่ 33 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข
อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ สูงขึ้นร้อยละ 5.02 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.18 (YoY) (เดือนธันวาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 3.87) ตามราคาสินค้า
ในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ (รถเมล์เล็ก/รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน)
นอกจากนี้ วัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) ราคาสูงขึ้น สำหรับสินค้าที่ปรับลดลง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อและกางเกง ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 7.70 (YoY) (เดือนธันวาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 8.87) โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเช้า) ผักและผลไม้สด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง แตงโม ส้มเขียวหวาน มะม่วง) ข้าวสาร และไข่ไก่
สาเหตุสำคัญยังคงเป็นต้นทุนที่อยู่ระดับสูง และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร จากปริมาณที่มีเพียงพอต่อความต้องการ ผักสดและผลไม้บางชนิด (ขิง ถั่วฝักยาว พริกสด แครอท ทุเรียน)
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 3.04 (YoY) ชะลอตัวเล็กน้อย จากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 3.23 (YoY) ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.30 (MoM) ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.41 สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก) เสื้อผ้าบุรุษและสตรี ตู้เย็น และหม้อหุงข้าวไฟฟ้า และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.13 อาทิ ผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน องุ่น มะม่วง) จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล และไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณมีไม่มากนัก สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม)
เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากการจัดโปรโมชัน น้ำมันพืชปรับลดลงตามราคาปาล์มดิบ และซอสหอยนางรมปรับลดลงตามโปรโมชัน
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน
ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.0 – 3.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 50.4 ในเดือนก่อนหน้า อยู่ในช่วงความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่น คือยังสูงกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 สาเหตุของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบและการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวลง จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป