ชูบทบาท สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ขับเคลื่อน ระบบ Health Link เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ เสริมแกร่ง 30 บาท รักษาทุกโรค-ทุกที่
กระทรวงดีอี สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ BDI ชูบทบาทใหม่เป็นนักวิเคราะห์ของประเทศ เร่งสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ทุ่ม 160 ล้านบาท พัฒนาเอไอภาษาไทย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้แถลงบทบาทใหม่ของ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ที่จะกลายมาเป็นหน่วยวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีข้อมูล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของรัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ หนุนใช้ Big Data และ Al ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล
ขณะนี้ ได้มีการอนุมัติงบประมาณปี 2567 กว่า 120 ล้านบาทให้ BDI พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ เวอร์ชั่นภาษาไทย (Thai Large Language Model (ThaiLLM/) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 นโยบายหลักของกระทรวงดีอีในปี 2567 นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในหนึ่งปี
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ BDI เปิดเผยว่า โครงการ Thai LLM นี้ได้รับงบสนับสนุนจากกระทรวงดีอี 120 ล้านบาท และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) อีก 20 ล้านบาท จะเป็นโครงสร้างสำคัญที่ถูกออกแบบให้เข้าใจบริบทภาษาไทยมากที่สุดที่เหมาะแก่การนำไปต่อยอด แม้ว่าจะมีบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากทำโมเดลภาษาไทย แต่ไม่มีใครพัฒนาได้ดีไปกว่าคนไทยที่เข้าใจบริบทของภาษาไทย
บทบาทที่สำคัญของ BDI คือ การส่งเสริมและประสานให้เกิดการใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจและบริการ เพื่อให้เป็นนักวิเคราะห์ของรัฐ ที่จะช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างแม่นยำ เมื่อมีโจทย์และข้อมูลจากหน่วยงาน BDI ก็พร้อมจะประมวลผลและนำเสนอเป็นข้อมูลพร้อมใช้ ทั้งพยากรณ์แผนงานอนาคตได้
พร้อมกันนี้ BDI ยังเป็นหน่วยงานผู้ให้บริการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลในสาขาต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูล มีคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและแรงขับเคลื่อนด้านข้อมูลกว่า 100 คน ที่ส่วนใหญ่ทำงานที่นี่ด้วยแรงขับที่อยากสร้างอิมแพ็กให้เกิดกับประเทศอย่างแท้จริง
หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่สำคัญ BDI คือระบบเบื้องหลังโครงการสำคัญอย่าง Health Link คือการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ และทำการบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงาน Health Link
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ 30 บาทพลัส เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการให้ผู้มีสิทธิ์ 30 บาทสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ทุกที่ ไม่จำกัดพื้นที่ตามสิทธิ์ ซึ่งการดำเนินการไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีข้อมูล ทำให้ในขณะนี้ 30 บาทรักษาทุกที่มีการนำร่องใช้แค่ 4 จังหวัดเท่านั้น
เบื้องหลังมีข้อมูลที่ต้องเชื่อมโยงกัน 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรงบตามสิทธิของคนไทย ซึ่งมีสิทธิหลายแบบ แบบแรก สิทธิ 30 บาท ข้อมูลอยู่กับ สปสช., แบบที่สอง จ่ายตรง อยู่กับกรมบัญชีกลางหรือแบบสาม สิทธิประกันสังคม ที่อยู่กับสำนักงานประกันสังคม ยังมีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรและอื่นๆ ของมหาดไทยอีกที่ต้องบูรณาการใช้ร่วมกัน
อีกส่วน คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ประวัติการรักษา การเชื่อมโยงทะเบียนราษฎร และสิทธิต่างๆ แล้วจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ถ่ายโอนข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา การจ่ายยา จากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งให้แชร์ร่วมกับสถานพยาบาลอื่นๆ
ดร.ธีรณี กล่าวว่า ในส่วนโรงพยาบาลรัฐหลายพันแห่งอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนนี้ทำได้เร็ว เพราะสร้างมาตรฐานข้อมูลร่วมกันภายใต้หน่วยงานเดียวกันทำได้ง่าย แต่ประเทศเรายังมีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยอยู่กับ กระทรวง อว. มีโรงพยาบาลทหาร/ตำรวจ ยังไม่รวมของเอกชนอีกทั่วประเทศ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร
เมื่อถามว่า ถ้า BDI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ Health Link เสร็จ หมายความว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาลจะพร้อมใช้งานทั้งประเทศใช่หรือไม่ ดร.ธีรณี กล่าวว่าก็เป็นไปได้ เพราะหากข้อมูลทั้งหมดเชื่อมกันบนแพลตฟอร์มเดียว ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิพึงมีที่ใดก็ได้ ตามเจตนารมณ์ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
นอกจากการเชื่อมโยงระบบ Health Link แล้ว BDI ยังมุ่งขับเคลื่อนโปรเจคอื่นๆ เช่น
Project BIG : Big Data Integration and Governance รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานต่างๆ จัดเก็บ รวมทั้งให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์และความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย
– โครงการ Health Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาได้ทันที
– โครงการ Travel Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย
– โครงการ Envi Link แพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมือง เพื่อสนับสนุนการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด และลด Carbon Footprint
– Data Analytics services บริการบูรณาการ พัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แก่หน่วยงานภาครัฐ
– Data and Information Technology บริการด้านวิศวกรรมข้อมูล
Project Bridge พัฒนาผู้ประกอบการโดยสร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานของศาสตร์ด้านข้อมูล ประกอบด้วย
– Big Data Business Promotion ศึกษาตลาดด้านข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์โจทย์ปัญหา และให้คำปรึกษาในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ
– Big Data Ecosystem & Industrial Promotion สร้างประชาคมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่าด้าน Big Data
– Research And Innovations ค้นคว้า และพัฒนา ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต ผ่านนวัตกรรมทาง Big Data และ AI
– Thai Large Language Model (ThaiLLM) พัฒนา Thai Large Language Model (ThaiLLM) มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ พร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลาง (Foundation Model) ที่สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในภาครัฐและเอกชน
Project Learn
– Manpower Development in Big Data พัฒนากำลังคนด้าน Big Data ยกระดับทักษะด้านการประมวลผล การวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างนักวิเคราะห์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูล ให้กับประเทศ
– Big Data E-Learning and Practice-Based Learning แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อพัฒนากําลังคนด้าน Big Data และ AI เพื่อพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับยุคสมัย (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับ Digital Age (New skill)
BDI ยังประเมินว่า ภายในปี 2567 จะสร้างผลกระทบต่อมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท ที่มาจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ซึ่งช่วยลดต้นทุนความซ้ำซ้อนของการบริการด้านสาธารณสุข และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ใช้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) อีกด้วย