ฝ่ายนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ออกโรงแถลง จี้รัฐบาล ยกเลิก MOU44 เสี่ยงเสียเปรียบกัมพูชา
วันที่ 8 พ.ย.เวลา 11.00 น.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ ประกาศจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในการแถลงทุกครั้ง เราไม่ได้ขัดขวางการที่จะเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อน ในฐานะอดีตรัฐมนตรีพลังงาน ผมทราบถึงความจำเป็นที่ประเทศของเราต้องมีแหล่งพลังงานมารองรับความมั่นคงในอนาคต
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในประเด็นที่สอง เรายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยแน่นอน เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเกาะกูด เราไม่ได้เสียเกาะกูด แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดได้ถูกละเมิด บนหลักกฎหมายสากลจากการลากเส้นอาณาเขตทางทะเล กินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล เจนีวา 1982 หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และเป็นจุดเริ่มของการเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อโต้แย้งในการเจรจา
ในประเด็นที่สาม ขอเรียนว่า พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ยกเลิก MOU2544 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งนี้ เพราะ MOU 2544 มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน มีขนาดใหญ่เกินจริงที่ไม่ได้อยู่บนหลักเจรจาอาณาเขตทางทะเลด้วยกฎหมาย เจนีวา 1982 ดังนั้น การเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากลดังกล่าว หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศ จะมีผลระยะสั้น คือจะทำให้ประเทศเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงาน ในพืันทึ่อันอาจเป็นอาณาเขตของไทยในระยะยาว จะเป็นหลักฐานทางการยอมรับในประวัติศาสตร์ และหากมีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้อีก นอกจากนั้น MOU2544 พบว่าด้วยความเร่งรีบในการดำเนินการเมื่อปี 2544 พบข้อบกพร่องของเอกสารสำคัญแนบท้าย
ด้าน ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชี้แจงตอบนายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 2544 ไทยเสียเปรียบและเป็นบันไดนำไปสู่การเสียดินแดนจากความตกลงนี้
1.พปชร.ตรวจพบว่า รัฐบาลให้สิทธิพิเศษในการเจรจากับกัมพูชาเหนือกว่าประเทศอื่นในการแบ่งเขตไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และอินเดีย ล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล เหตุใด กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ที่สำคัญคือ ขัดกับวรรคท้ายของพระบรมราชโองการที่ระบุว่า การกำหนดไหล่ทวีป กับประเทศใกล้เคียงให้ตกลงกันโดยยึดถือบทบัญญัติอนุสัญญาเจนีวา 1958
2.MOU 2544 ลดสถานะของเส้นเขตแดนตามประกาศพระบรมราชโองการที่ทำตามกฎหมายสากล ให้มีค่าเท่ากับเส้นที่ลากเส้นเขตแดนที่ไม่มีกฎหมายสากลรองรับ กินพื้นที่พระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยไปถึง 26,000 ตร. กม.MOU 2544 ทำให้ไทยที่ทำตามกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอีกฝ่ายทำนอกกฎหมายสากลได้ และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายสากลของกัมพูชานี้เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการ กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพ
3.การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทยใกล้อ่าวตัว ดังปรากฎตามแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เท่ากับรัฐบาลไทยรับรู้ว่า ทะเลตราดและทะเลเกาะกูดอยู่ในเขตของฝ่ายกัมพูชา และถูกนำเข้ามาอยู่ในกรอบการเจรจา ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจรจา
4.รัฐบาลอธิบายว่า MOU 2544 ไม่ปรากฎข้อความไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ยอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบว่า เส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย
5) เทียบกรณี ไทย-มาเลเซีย พบว่า กรณีกัมพูชามีการดำเนินการก็เร่งรีบผิดปกติโดยใช้เวลาเจรจาเพียง 44 วัน จนระบุเส้นละติจูดผิด โดยเขียน 9E 10E 11E ที่ถูกต้องเขียน 9N 10N 11N เทียบกรณี มาเลเซีย ใช้เวลา 7 ปี จึงเกิด MOU พื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาขนาดใหญ่โตกว่า 4 เท่า วิธีดำเนินการก็แตกต่าง เทียบกับกรณี ไทย-มาเลเซีย จะตั้งคณะเจรจาให้เหลือพื้นที่ทับซ้อนเล็กที่สุดเสียก่อน เมื่อตกลงกันได้ จึงค่อยทำ MOU แสดงให้เห็นความรีบร้อน ไม่รัดกุม อาจนำประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในอนาคต
6.หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต
“หากกัมพูชายึดถือกฏหมายทะเลสากล เส้นไหล่ทวีประหว่างกันจะลากจากหลักเขตที่ 73 เฉียงลงทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดและเกาะกง พื้นที่ทับซ้อนจะเหลือประมาณ 7000 ตร.กม. เมื่อพัฒนาปิโตรเลียมเสร็จสิ้น แบ่งฝ่ายละครึ่ง ไทยจะเสียพื้นที่ไปเพียง 3500 ตร.กม.เท่านั้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย จึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา โดยยึดแนวทางที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย“
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวตั้งข้อสงสัยว่า การทำงานของกระทรวงต่างประเทศ (กต.) อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา MOU 2544 โดยขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ผู้มีหน้าที่ปกป้องประเทศในเวทีกฎหมายสากล ชี้้แจงต่อประชาชนว่า กต.ไปเสนอให้รัฐบาลทำ MOU ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับกติกาสากล ใช่หรือไม่?
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า เส้นดังกล่าวขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ คือ
(ก) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด
(ข) ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์ และ
(ค) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสนธิสัญญาฯ
และกต.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศย่อมจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว
นายธีระชัย ยังกล่าวต่อว่า ตนจึงเรียกร้องให้ กต.ตอบคำถามเหล่านี้
1.กต.ได้มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล
2.กต.เคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่?
3.กต.เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชาที่กต.รู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้ทำไม?
- MOU เป็นการที่รัฐบาลไทยสละสิทธิที่จะท้วงติงเรื่องเส้นผิดกติกาสากล ใช่หรือไม่?
5.เส้นที่ผ่านเกาะกูดจะถูกต้องตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ก็เฉพาะกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันคนละส่วน ใช่หรือไม่?
“หัวใจของ MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่กต.ดำเนินการกลับทางโดยตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากลเพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่กต.ไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาลเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด ทั้งที่ควรจะแจ้งรัฐบาลให้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิก MOU ใช่หรือไม่? ” นายธีระชัย กล่าว