“อุตตม” โชว์นโยบาย “ประชารัฐ” ไม่ใช่ “ประชานิยม”

วันที่ 9 ม.ค. 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ นายอุตตม สาวนายน ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Policy Push – Market Drives กำหนดนโยบายให้ตรงใจตลาดโลก” ในงาน “อนาคตประเทศไทย ECONOMIC DRIVES” ที่จัดขึ้นโดยโพสต์ทูเดย์ และบริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

โดยนายอุตตม แสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญจากสถานการณ์ทั้งในประเทศและจากนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาสได้เช่นเดียวกัน หากสามารถปรับตัวและมีความพร้อมต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ปีนี้มีโอกาสถดถอย และชะงักงัน รวมถึงเรื่องที่สำคัญอย่างเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของโลก อย่างความตึงเครียดที่มีความไม่แน่นนอนของสถานการณ์โลก ที่ส่งผลให้เกิดความกังวล ทั้งประเทศมหาอำนาจ และประเทศไทย ที่อาจจะเกิดความแปลงที่คาดไม่ถึงได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ต่อสถานการณ์ดังกล่าว พรรคพลังประชารัฐวางแนวทางในการบริหารจัดการเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. การทำเรื่องเร่งด่วน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ประเทศต้องเผชิญ และ 2. การเร่งรัดการวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้คนไทยทั้งประเทศ และ 3. การปฏิรูประบบราชการ

โดยเรื่องเร่งด่วนแรก นานอุตตม ยกเป็นตัวอย่างคือ เรื่องบาดแผลของประเทศจากสถานการณ์โควิด ที่วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คนตัวเล็ก ยังคงเป็นแผลที่สาหัสอยู่ ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบตรงนี้จะแก้อย่างไร

ซึ่งแนวทางของพรรคคือต้องแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ คือ แก้หนี้ เติมทุน และสร้างทักษะอาชีพ ถึงจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ส่วนเรื่องที่ 2 ต้องเร่งรัดการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากเศรษฐกิจฐานรากคู่ขนานกับเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่าหากเศรษฐกิจฐานรากไม่เข้มแข็ง เมื่อเกิดวิกฤตจะกระทบระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จะต้องผสมผสานอย่างครบวงจรทั้งเรื่องของการเกษตร การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสร้างให้เกิดงานใหม่ ผลักดันชุมชนให้เข้มแข็งดูแลตัวเองได้มากที่สุด นอกจากนี้ ดร.อุตตม ยังมองว่าประเทศไทยต้องมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ๆ เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจประเทศไทยวันนี้เริ่มอ่อนแรง บางเครื่องล้าสมัยแล้ว อย่างเรื่องการส่งออกแม้จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรงได้

และเรื่องที่ 3. ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือการปฏิรูปรัฐราชการ ไม่ให้เป็นคอขวด เพื่อให้การบริหารงานราชการเป็นไปอย่างมีระบบ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ

“ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องการพัฒนาคน เพราะสิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการพัฒนาคน วันนี้การศึกษาต้องครบทุกวัย ผมมองว่าการลงทุนในเด็กช่วงปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดที่เราจะทำเพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศได้ ที่สำคัญที่ต้องเป็นรัฐสวัสดิการที่เข้าถึงถ้วนหน้าและมีคุณภาพ” ดร.อุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวต่อว่า ภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายจากที่กล่าวมาทั้งหมด พรรคพลังประชารัฐจะขับเคลื่อนภายใต้แนวความคิดประชารัฐ ซึ่งตนขอย้ำว่า ประชารัฐไม่ใช่ประชานิยม เพราะแนวคิดประชารัฐ คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน สร้างการพัฒนาที่คุ้มค่า มั่งคั่ง ยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความยากจนด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมในทุกมิติ ซึ่งแนวทางดังกล่าวตนได้ร่วมขับเคลื่อนมาแล้วทั้งสิ้น ตั้งแต่การทำโครงสร้างพื้นฐานดิจิตัล โครงการเน็ตประชารัฐ การต่อยอดโครงการพร้อมเพย์ แอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ เป็นต้น