บังคับใช้แล้ว มียาบ้า 5 เม็ด เป็นผู้เสพ ไปบำบัด ไม่ติดคุก

  • ‘หมอชลน่าน’ แจงกฎกระทรวงใหม่
  • ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ
  • ถ้าไปบำบัด ไม่ติดคุก ยึดหลักการ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย

วันที่ 11 ก.พ.67 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กฏกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงขอชี้แจงดังนี้

  1. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 2566 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ประชุมกัน  เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประเภทยาบ้า หลังจากนำเสนอข้อมูลของแต่ละฝ่ายอย่างรอบคอบและรอบด้าน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ที่มียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เมื่อถูกตำรวจจับได้ ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และให้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ควรนำไปบำบัดรักษาให้หายเป็นปกติ ซึ่งปกติจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความสมัครใจของผู้นั้นว่าจะยอมไปบำบัดรักษาไหม ถ้าไม่ยอมรับการบำบัดก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติการณ์ขายต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

2.ส่วนผู้ที่มียาบ้าเกินกว่า 5 เม็ด เช่น มี 6 เม็ดหรือมากกว่านี้ ถูกตำรวจจับ ให้ถือเป็นผู้มียาบ้าไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีโทษเท่ากับ การจำหน่าย ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ นั่นคือ จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี

  1. ข้อสรุปนี้เป็นผลจากการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปปส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ ศาลยุติธรรม เป็นต้น
  2. กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนซึ่งได้กล่าวย้ำกับบุคลากรของกระทรวงมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ก็คือ เมท แอมเฟตามีน หรือยาบ้า เป็นยาเสพติดให้โทษที่ห้ามเสพ ห้ามมีไว้ในครอบครอง ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า หรือส่งออกหรือห้ามจำหน่ายไม่ว่าจะกี่เม็ดก็ตาม ถือว่าเป็นความผิด ต้องได้รับโทษ แต่มีเงื่อนไขเรื่องจำนวนเม็ดที่กำลังพิจารณาดำเนินการอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น มีไว้เสพก็ต้องรีบนำไปบำบัดรักษาให้หาย ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อตัวผู้เสพเอง หรือเมื่อเกิดอาการจิตหลอนก็ใช้อาวุธไปทำร้ายคนรอบข้าง ได้แก่ ลูก เมีย พ่อแม่ ญาติพี่น้องและคนทั่วไปจนถึงแก่ชีวิตดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน  ถ้าพบพฤติการณ์มียาไว้จำหน่ายก็จะต้องได้รับโทษหนัก
  3. ยาบ้า 5 เม็ด ยืนยันว่าไม่ได้นั่งคิดขึ้นมาเองตามใจชอบ แต่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทย์ทางด้านสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้
  4. ตามขั้นตอน ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมตรี เพื่อจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อการกำหนดจำนวนเม็ดยาบ้าดังกล่าว หลังได้แนวทางซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงเสนอ และได้ผ่านการเห็นชอบคณะรัฐมนตรี นำมาประกาศเป็นกฎกระทรวง

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดผ่านการลงความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า ผู้ค้าผู้เสพ ทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมมือกัน ใครมีหน้าที่ปราบปรามจับกุมก็ทำอย่างเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่บำบัดรักษา ส่งคืนสู่สังคมพยายามให้ไม่ย้อนกลับไปเสพใหม่ การดำเนินการผ่านกระบวนการคิดจากหลายๆฝ่ายมาร่วมมือกัน ใครถือเป็นผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นผู้เสพแต่ถ้ามีพฤติกรรม และ พยานแวดล้อมว่าเป็นผู้ค้า ไม่ว่าจะกี่เม็ดก็ต้องติดคุก รัฐบาลจะดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ผู้เสพ ต้องเข้ารับการบำบัด  เมื่อบำบัดครบ ได้รับการรับรองจึงถือว่าไม่ต้องรับโทษ และเมื่อผ่านการบำบัดทางการแพทย์แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางสังคม โดยหลักการชุมชนบำบัด จนสามารถเชื่อได้ว่า ไม่กลับไปเสพซ้ำ มีพฤติกรรมที่ดี สามารถที่จะกลับสู่สังคมได้
       
“ผมมีความมุ่งมั่นที่จะคืนลูกหลานสู่อ้อมกอดของชุมชน ขณะเดียวกัน ก็เร่งบำบัดช่วยเหลือโรคสมองติดยาของผู้เสพให้ดีขึ้น ลดปัญหาการกลับไปเสพใหม่ไม่กลับไปเสพซ้ำ ให้เป็นพลเมืองดี เพื่อสังคมที่เป็นสุขและประเทศชาติปลอดภัยจากยาเสพติด ย้ำ ผู้ค้าเม็ดเดียวก็ติดคุก” นายแพทย์ชลน่านกล่าว