เปิดบทสัมภาษณ์ “เรืองไกร” ยังมั่นใจเอาผิดพิธาได้!!

ให้หลังเพียง 1 วัน หลังปรากฏหลักฐานใหม่ คือคลิปเสียงการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ซึ่งพบว่า ข้อเท็จจริงในคลิปกับข้อเท็จจริงในเอกสารไม่ตรงกัน

มีความแตกต่างกันระหว่าง “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” (ในคลิป) Vs. “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” (ในเอกสาร)

พลันที่หลักฐานแพร่กระจายในวงกว้าง ก็ทำให้มีคนรู้สึกไม่น้อยว่า “เราชนะแล้ว!!”

ทว่าหากอ่านบทสัมภาษณ์ของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อย่างตั้งใจ จะพบว่ามีนัยยะที่สำคัญและไม่ได้เป็นสัญญาณบวกต่อพิธาแบบชนิดที่รู้สึกกันในเวลานี้

ประเด็นที่ 1 ITV มีการดำเนินธุรกิจสื่อ

เรืองไกรเปิดงบการเงินฉบับย่อของบริษัทไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 ก.พ. 2566 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

เรืองไกรชี้ว่า เอกสารงบการเงินฉบับย่อที่ตนนำมาเปิดเผยเป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ

“เอกสารสำคัญที่ควรจะดูก็คือหมายเหตุประกอบงบการเงินไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุมที่มีการนำออกมาเผยแพร่กันในขณะนี้ โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566 ระบุว่า 24 ก.พ.2566 เขาทำธุรกิจสื่อแล้วตามที่เขาอธิบายเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้กลับมาทำสถานีไอทีวีแล้ว เขาทำสื่ออื่นแล้ว”

ประเด็นที่ 2 คลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็นที่ร้อง

“ที่มีการเปิดคลิปรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นออกมากันในขณะนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็นที่ร้อง เพราะกฎหมายเขียนว่าห้ามเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนใดๆ”

“พยานหลักฐานที่ควรไปดูคือ 1.นายพิธา ถือหุ้นตามทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ 2.ทำธุรกิจสื่อมวลชนใดๆ ก็ไปดูวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท และดูจากหมายเหตุงบการเงิน”

“ส่วนไปประชุมผู้ถือหุ้น ถามตอบแล้วจดถูกผิดบ้างก็เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นกับบริษัท ซึ่งเมื่อมีการจดผิดผู้ถือหุ้นรายนี้ก็ต้องไปแจ้งให้มีการแก้ไขรายงานการประชุม ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่าเขาจดผิดเพราะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองมันจะเกี่ยวอะไร”

เรืองไกรย้ำถึงข้อกฎหมายที่ใช้เอาผิดพิธาว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) กำหนดเพียงห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งกรณีนี้เข้าลักษณะของสื่อมวลชนใดๆ

“คำว่าสื่อมวลชนหมายความว่าอะไร ตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุถึงวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเดี๋ยวนี้คำว่าแมสมีเดียมันมีทั้งแอนะล็อก และดิจิทัล ซึ่งก็เข้าตามวิชาการอยู่แล้ว และถามว่าสมัยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการถือหุ้นของนายธนาธร บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ก็ไม่ได้ทำสถานีโทรทัศน์เหมือนกับไอทีวี หรือพิมพ์หนังสือเหมือนมติชน หรือไทยรัฐ แต่เขาพิมพ์หนังสืออื่น จึงไม่ต้องไปดูว่าไอทีวีมีการออกอากาศ หรือยุติการออกอากาศแล้ว”

ความรู้สึกว่าเราชนะแล้ว กับข้อเท็จจริงทางกฎหมาย อาจยังไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันในเวลานี้ คำพิพากษา-คำวินิจฉัยกรณีพิธาถือหุ้นสื่อ ออกได้หลายหน้า ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมือง ณ วันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ