ปฏิทินการเมืองที่สำคัญ จะเริ่มในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 คำวินิจฉัยของ ศาล รธน. จะมีผลต่อทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล
ถ้าออกเป็นบวกต่อ “พิธา” และพรรคก้าวไกล เท่ากับเป็นการตอกย้ำความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่จะโยนข้อเสนอกลับไปยัง 8 พรรคร่วม และสาธารณชน ในการเสนอชื่อ “พิธา” สู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทยย้ำก่อนหน้านี้ว่า การกลับไปจับมือกับขั้ว 8 พรรคร่วมเดิม เป็นเรื่องยาก เพราะมีแนวโน้มจะรวมเสียงในสภาได้เท่าเดิม-ไม่มีเพิ่มขึ้น
หากคำวินิจฉัย ออกเป็นลบต่อ “พิธา” เท่ากับจะเปิดทางให้ “วันนอร์-ประธานรัฐสภาฯ” เดินเกมเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อไปได้ โดยประเมินกันว่า จะกำหนดเป็นวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 หรือ วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2566
แนวโน้มการจัดตั้ง #รัฐบาลข้ามขั้ว ดำเนินไปช้าช้า ทว่าหนักแน่น ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ
1.พรรคเพื่อไทยประกาศแล้วว่า ขณะนี้รวบรวมเสียงข้างมากของสองสภาฯ ได้แล้ว พร้อมแสดงความมั่นใจอีกว่า จะมีเสียงเห็นชอบให้รัฐบาลเพื่อไทยตามมาอีกมากในวันโหวตเลือกนายกฯ
ถือเป็นคำประกาศแบบไม่ต้องนั่งจับมือแถลงร่วมกับ 2 พรรคลุง ให้เกิดแรงต้านทางสังคม แต่ใช้เทคนิคทำทีเป็นตีเช็คเปล่าทางการเมืองก่อนในเบื้องต้น ทว่าย่อมต้องต่อรองกันหลังไมค์ด้วยหลักประกันทางการเมืองหลายชนิด
2.พรรคเพื่อไทยยืนยันเสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ท่ามกลางข้อวิจารณ์ในประเด็นการหลบเลี่ยงภาษี ธุรกรรมอำพราง และข่าวปล่อย-ข่าวอ้างทางการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนชื่อแคนดิเดตนายกฯ จาก “เศรษฐา” เป็น “แพทองธาร” ในฐานะหลักประกันทางการเมือง
3.ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งสัญญาณ พร้อมเข้าร่วมรัฐบาลชัดเจน ซึ่งย่อมมี สว.ในสังกัดของ 2 ลุง ตามมาร่วมโหวตให้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
นี่เองที่ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยประกาศอย่างมั่นใจทุกครั้งที่ไมค์จ่อปากว่าขณะนี้เสียงเกินกึ่งหนึ่งไปแล้ว
เสียงโหวตจากทั้ง 2 พรรคลุงนี่เอง ที่จะเป็นกุญแจปลดล็อคประตูสู่ตึกไทยคู่ฟ้า
4.วันนี้ (15 สิงหาคม 2566) มีนักข่าวถาม “อนุทิน-หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ว่า ได้โควต้ารัฐมนตรีจำนวนเท่าไหร่? คำตอบคือ “เบื้องต้นน่าจะได้ 4+4”
คำตอบ “อนุทิน” ย่อมชัดเจนว่า มีการแบ่งสรรปันส่วนในคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
5.เมื่อถามถึงกรณีที่ สส.ในพรรคเพื่อไทยติดใจเรื่องพรรคเพื่อไทยต้องจับมือกับพรรค 2 ลุง
“ภูมิธรรม-รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย” เปลี่ยนเส้นเรื่อง โดยย้ำถึงความจำเป็นและข้อเท็จจริงทางการเมืองว่า
“ตนไม่ได้ยิน ทุกคนให้กำลังใจทีมเจรจาให้สามารถทำงานได้ เพราะเราอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ไม่สามารถทำตามความต้องการที่เราปรารถนาได้ทั้งหมด เมื่อตัวเลขออกมาเช่นนี้ และปัญหาที่แสดงออกมาชัดเจน ก็สะท้อนว่าเรารอไม่ได้ รวมถึงมีปัญหาเข้ามาใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว ความยากลำบากของการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมีความเจ็บปวด พรรคเพื่อไทยจึงอาสาเป็นหินก้อนแรกในการทำให้เกิดเส้นทาง ที่ทำให้ความขัดแย้งลดลง”
ทั้งหมดคือภาพสะท้อน และแนวโน้มความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ทว่าเดิมพัน และต้นทุนที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายสูงลิ่ว
โดยเฉพาะการเป็นรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกล นั่งเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งได้ประกาศชัดเจนในวันเดียวกัน หลังมีความชัดเจนเรื่องการจับขั้วรัฐบาลกับพรรค 2 ลุงว่า
“รัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีการนำพรรครัฐบาลขั้วเดิมเกือบทั้งหมดมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย เท่ากับขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกอย่างชัดเจนในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566”
“แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่ององค์ประกอบคณะรัฐมนตรี แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลเดิมมากนัก”
“พรรคก้าวไกลไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลโดยเกรงใจผู้มีอำนาจแต่ไม่เกรงใจประชาชน จะผลักดันวาระที่ก้าวหน้าและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริงได้”
“พรรคก้าวไกล..ตัดสินใจบนจุดยืนทางการเมืองและคำสัญญาที่พรรคก้าวไกลได้ให้ไว้กับประชาชนคือ มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่สามารถตระบัดสัตย์ต่อประชาชนได้”
นับถอยหลังสู่วันโหวต “เศรษฐา” เป็นนายกฯ พร้อมจับตาแรงต้านไปพร้อมกัน!!