วันที่ 15 ก.พ.66 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วย สปสช. ได้ตระหนักต่อปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงได้ดำเนินโครงการ “เลิฟปัง รักปลอดภัย แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ‘แจกยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัย‘ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวานนี้ (14 ก.พ. 66) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายโดยความห่วงใยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)
โครงการฯ นี้ ไม่เพียงแต่ดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองให้เข้าถึงบริการถุงยางอนามัยเบื้องต้นจำนวน 94,566,600 ชิ้น ในปี 2566 และยาคุมกำเนิดเท่านั้น แต่รวมถึงบริการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ด้วย เช่น การใส่ห่วงอนามัย ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนของถุงยางอนามัยที่ สปสช. เพิ่มบริการผ่านตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัตินั้น ก็ได้เริ่มให้บริการแล้วเช่นกัน เบื้องต้นติดตั้งบริการ 3 เครื่อง ใน 2 พื้นที่เมืองพัทยา คือ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย 2 เครื่อง และ รพ.เมืองพัทยา 1 เครื่อง โดยหลังจากนี้ สปสช. จะมีการติดตามและประเมินผลการให้บริการและรับบริการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายผ่านตู้จ่ายถุงยางอัตโนมัติ หากได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะมีการขยายติดตั้งตู้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่และจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นายจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (สวิง พัทยา) กล่าวว่า มีความยินดีที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และมองว่ามีความตั้งใจในการพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง การรับถุงยางอนามัยผ่านเครื่องจ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติ รวมถึงสิทธิประโยชน์คุมกำเนิดอื่นๆ ภายใต้โครงการเลิฟปัง รักปลอดภัยฯ ในระบบบัตรทอง 30 บาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพรวมจะมองว่าดี แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่ม อย่างเช่นกลุ่มพนักงานบริการ ก็อยากให้มีบริการถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดที่ไม่ต้องมาแสดงบัตรประชาชน หรือเปิดเผยตัวตนวิธีใดๆ ก็ตาม เพราะแม้แต่การจ่ายถุงยางอนมัยผ่านตู้อัตโนมัติก็ยังต้องใช้บัตรประชาชนยืนยัน ที่เป็นการเปิดเผยตัวตนเช่นกัน ถือเป็นข้อจำกัด
การให้บริการถุงยางอนามัยจำนวน 10 ชิ้นต่อครั้งต่อสัปดาห์นั้น หากเป็นค่าเฉลี่ยประชากรทั้งประเทศ ก็มองว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ส่วนจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่นั้น เรื่องคงแล้วแต่มุมมอง แต่ส่วนตัวมองว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติมนุษย์ และทุกครั้งที่เราเห็นถุงยางก็ไม่ได้จะทำให้อยากมีเพศสัมพันธ์ เพียงแต่การพกถุงยางอนามัยเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมและป้องกันมากกว่า
“เมื่อวานนี้ทั้งสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สำนักงานชลบุรี, มูลนิธิซิสเตอร์ พัทยา, เครือข่ายสุขภาพและโอกาส Hon house พัทยา และสวิง พัทยา เอง ได้ร่วมการเปิดตัวโครงการเลิฟปังฯ เราเห็นด้วยกับการจัดบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัย เพราะทำให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวกมากขึ้น และอยากให้มีการกระจายติดตั้งไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการจัดบริการถุงยางอนามัยเฉพาะกลุ่มพนักงานบริการที่ไม่อยากแสดงตัวตน” รอง ผอ. สวิงพัทยา กล่าว