ประธานกสทช.ร่วมเวที IRF ณ ประเทศเยอรมัน โชว์ 4 วิสัยทัศน์ เร่งพัฒนาขีดความสามารถกำกับดูแลกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมศตวรรษที่ 21 โดยมีผู้บริหารกว่า 37 ประเทศเข้าร่วม ต่างชื่นชมประเทศไทยโดยเฉพาะมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัล
ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. เข้าร่วมการประชุม International Regulator Forum (IRF) ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งเริ่มขึ้นแล้ววันนี้ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มากกว่า 37 ประเทศทั่วโลก และประธานกสทช.ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรประเด็น การเสริมความเข้มแข็งแกร่งผู้บริโภคในโลกดิจิทัล (Consumer Empowerment in a Digital World) อีกด้วย
“กสทช.ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและการกำกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคมในโลกที่มีความท้าทาย โดยได้สะท้อนการทำงานของ กสทช.และหลายๆเรื่องที่น่าสนใจ ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต”
ด้าน นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านเทคโนโลยี พัฒนาธุรกิจ และนโยบายภาครัฐ กล่าวเสริมว่า ประเด็นสำคัญที่ประธาน กสทช. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม IRF มีด้วยกัน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. อนาคตของการกำกับดูแล กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมใน ศตวรรษที่ 21 2. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ บนห่วงโซ่ประกอบการ 3. การพัฒนาระบบ 5G และ 4. การคุ้มครองผู้บริโภค
“การประชุมเวที IRF วันแรก ถือว่าประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้บริหารองค์กรกำกับดูแลด้านกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมหลายชาติ มาขอคำปรึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงแชร์ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์มากและจะนำมาพัฒนาต่อยอดสู่การดำเนินงานของกสทช.ในอนาคต
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ ยังนำเสนอความก้าวหน้าการคุ้มครองผู้บริโภค สกัดกั้นการละเมิดสิทธิ ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับข้อความ (AI Detection) และสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้ผู้บริโภคถึง 5 แสนคนทั่วประเทศให้รู้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ การหลอกลวงผ่านข้อความ SMS โทรศัพท์หรืออีเมล์ เป็นต้น
สำหรับการประชุมระดับโลก IIC’s 2023 annual Communications Policy & Regulation (CPR) Week ครั้งที่ 54 จัดโดย International Institute of Communications องค์กรนานาชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางและนโยบายด้านการสื่อสารทั่วโลก โดยมีภาคีเครือข่ายครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการคับคั่ง การประชุมยังมีต่อไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ณ เมืองโคโลญจ์ สหพันธรัฐเยอรมนี