14 ก.พ. เลือกตั้งอิเหนา ‘เปลี่ยนเพื่อรักษาสถานะเดิม’

ปี 2024 ถือเป็นหมุดหมายอันสำคัญอีกครั้งของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะเป็นปีที่เรียกได้ว่า มีการเลือกตั้งใหญ่ ๆ เกิดขึ้นทั้งปี แน่นอนที่สุด เกิดการเลือกตั้งแล้วในบังกลาเทศ ไต้หวัน และล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. ที่จะถึงนี้ คือการเลือกตั้งปธน. อินโดนีเซีย

สปอตไลท์ส่องไปที่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นพิเศษ เพราะสถานะของอินโดนีเซียภายใต้การดำรงตำแหน่งของโจโกวี (Joko Widodo) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมากำลังจะหมดลงและรัฐธรรมนูญของประเทศจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย

แน่นอนที่สุดผู้สมัครคนต่อไปถูกคาดหวังพอควรเกี่ยวกับอนาคตของประเทศแห่งนี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของโจโกวี อินโดนีเซียได้รับการยอมรับจากคนในประเทศและต่างชาติในความสำเร็จหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ โดยเฉพาะการผลักพื้นที่ของอินโดเซียให้เป็นโดดเด่นและกว้างขึ้นในภูมิรัฐศาสตร์โลก

หากย้อนมาดูตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีบุคคลโดดเด่นที่น่าจับตามองอยู่ 3 คน


ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subiento) จากพรรค Gerinda พรรคที่มีที่นั่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ในสภาฯ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรมว. กลาโหมในคณะบริหารชุดปัจจุบัน มีคะแนนนิยมจากโพลเป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 43) ตามมาด้วย อานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan) ผู้สมัครอิสระ (ร้อยละ 25) และ กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) (ร้อยละ 23) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง จากพรรค PDI-P ที่มีคะแนนตามมาอย่างสูสี

ภาพรวมการหาเสียงมีแนวนโยบายสอดคล้องกันในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมนิกเกิลในประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การพัฒนาและวางรากฐานเมืองหลวงแห่งใหม่ เป็นต้น

ด้วยความใกล้เคียงทางนโยบายที่ไม่ได้ใหม่ไปจากเดิมนี้เอง ทำให้การแข่งขันในแง่ทางการเมือง ภาพลักษณ์ ถูกชูโรงขึ้นมาเป็นสำคัญ และแม้โจโกวี จะไม่ได้สนับสนุนผู้สมัครคนใดอย่างเต็มตัวแต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเขาสนับสนุนปราโบโว ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นได้ชัดจากกิบรัน รากาบูมิง (Gibran Rakabuming) ลูกชายคนโตอายุ 36 ปี ที่ลงสมัครเป็นรองปธน. ภายใต้การนำของปราโบโว

โดยก่อนหน้านี้มีแก้กฎเรื่องการดำรงตำแหน่งที่จะต้องมีอายุอย่างต่ำ 40 ปีแม้ปราโบโวจะพ่ายแพ้โจโกวีจากการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมาในปี 2014 และ 2019 พร้อมยังถูกกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังการเลือกตั้งในปี 2019 ความเป็นปึกแผ่นของนายทหารผู้นี้กับโจโกวีสัมพันธ์แนบแน่นมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ผู้สมัครอย่างกันจาร์ นอกจากได้รับการสนับสนุนจากพรรค PDI-P พรรคของโจโกวีที่มีที่นั่งเป็นอันดับหนึ่งในสภาฯ ครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งบุคลิกและภาพลักษณ์ของเขาที่ถอดแบบมาจากโจโกวี ติดดิน เข้าถึงง่ายเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังโดดเด่นในแง่การแสดงวิสัยทัศน์ทางนโยบายที่มีความเป็นรูปธรรม ชัดเจน มากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ

และผู้สมัครอย่างอานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan) ผู้สมัครอิสระ อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา และรมว. ศึกษาธิการและวัฒนธรรม พยายามฉายภาพลักษณ์ของการเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า และพยายามดึงฐานคะแนนเสียงขององค์กรมุสลิมที่สำคัญในประเทศอย่าง Nahdlatul Ulama ซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 ล้านคน พยายามมาเป็นตัวแปรในครั้งนี้

การชิงชัยที่ไม่ได้โดดเด่นแต่เป็นการเมืองสานต่ออำนาจเดิมเช่นนี้ นักวิเคราะห์การเมืองในอินโดนีเซียคาดว่าการเลือกตั้งมีโอกาสจะไม่จบภายในรอบเดียว เพราะทุกคะแนนนิยมอิงมาจากภาพความสำเร็จและภาพตัวแทนของโจโกวีทั้งสิ้น และสุดท้ายหากอานีสและกันจาร์ ร่วมมือกันในการหาเสียงโค้งสุดท้ายเพื่อสกัดปราโบโว การเลือกตั้งรอบที่สองจะเกิดขึ้นและวัดกันใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน

ส่วนคำถามว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ คงไม่สำคัญ เพราะคำตอบคือ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยน (ผู้นำ) เพื่อรักษาสถานะเดิม มากกว่าที่จะก้าวไปสู่แนวนโยบายใหม่ๆ