สงครามที่ยังไร้ทางชนะของ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
15 ม.ค. 2567 พ้นจากวาระการเป็น ส.ส. ไปแล้ว สำหรับ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
เป็นการตัดสินใจบนความเชื่อมั่นว่าเก้าอี้รัฐมนตรีของเขาจะยังเหนียวแน่น ไปจนจบรัฐบาล เพราะสถานีต่อไป คือ การปรับ ครม. ตามวิถีปฏิบัติของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และแนวการบริหารของนายใหญ่ที่มักชอบเขย่า ครม. บ่อยๆ
หากไม่สามารถรักษาเก้าอี้ รมต. ไว้ได้ เขาจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ “สูญเสีย” มากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ทั้งตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” หรือ “พ่อบ้านเพื่อไทย”, เก้าอี้ รมต.คมนาคมที่เขาคาดหวัง จนถึงตำแหน่ง สส. ที่พึ่งตัดสินใจลาออก
สื่อสารกับรัฐบาล-บริหารอำนาจ
ภาพที่เห็น และการสื่อสารของ “ประเสริฐ” ในฐานะรัฐมนตรีดีอีมักปรากฎตัวพร้อมกับเหตุการณ์จับกุม “อาชญากรรมไซเบอร์” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อยู่บ่อยครั้ง
รวมถึงเหตุการณ์การงัดกฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่ (พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566) ชิงประกาศให้ผู้ถือครองซิมการ์ดเกิน 5 เลขหมายมาขึ้นทะเบียนใหม่ เพื่อสกัดกลไกแก๊งอาชญากรรมในการใช้ก่อเหตุโทรหลอกลวง ส่งสัญญาณ และนำเลขหมายไปผูกบัญชีม้า ซึ่งเป็นการเร่งเกมปราบปราม ที่ “ปาดหน้า” สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) องค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรงในเรื่องนี้
ล้วนเป็นสัญญาณของการบริหารอำนาจ หรือตั้งใจ Exercise power กระทุ้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่านี่เป็นวาระสำคัญที่ต้องทำ
ยังไม่รวมการแถลงผลงาน 9 เรื่องใน 3 เดือนแรกของการรับตำแหน่ง ที่กว่าครึ่งล้วนเป็นการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ทั้งการตั้งศูนย์ AOC 1441, การตั้งศูนย์ Eagle Eye ตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่ปล่อยข้อมูลรั่วไหล, การให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทรวงปิดเว็บไซต์เถื่อนอย่างเต็มที่ รวมถึงการเร่งตัดตอนบัญชีซิมม้า
สงครามที่ยังไร้ทางชนะ
“ประเสริฐ” มักกล่าวเสมอว่า เขาเคยคาดการณ์ไว้ว่า หลังจัดตั้งรัฐบาลคงได้กลับมาดูแลงานในกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนเองเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยมาก่อน จึงถนัดและคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่เมื่อได้มาดูแลกระทรวงดีอี ก็ถือเป็นเรื่องท้าทายและสำคัญมากเพราะเป็นกระดูกสันหลังของนโยบายรัฐบาลและเป็นอนาคตของประเทศ
แรงกดดันในการทำงานในฐานะ รมว.ดีอี ที่ได้รับจากนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล คือ การปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บเถื่อนเว็บพนัน รวมถึงการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล
ทว่าที่ผ่านมายังไม่เห็นการ “ตั้งเป้า” ว่าอาชญากรรมเหล่านี้จะต้องลดจำนวนลงเท่าไหร่ มีตัวชี้วัดอย่างไร จึงเป็นการยากที่จะพิจารณาหรือประเมินความสำเร็จในการทำงานของรัฐมนตรีดีอี
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์จะเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกับสังคมไปตลอด เนื่องจากเป็นอาชญากรรมต้นทุนต่ำ และการไม่เท่าทันเทคโนโลยีของประชาชนที่เอื้อให้เกิดช่องว่างของมิจฉาชีพ จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันปราบปรามได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ตัวเลขอาชญากรรมที่มีการแถลงว่าเพิ่มขึ้นเพราะตรวจจับได้มากขึ้น ไม่ได้ลดความรู้สึก “หวาดผวา” ของประชาชน แต่ก็เพียงพอจะเพิ่มความเชื่อมั่นได้บ้าง
ดังที่ นิด้าโพลล์ ทำการสำรวจความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจ พบว่าประเภทอาชญากรรมที่ประชาชนกลัวที่สุด กว่า 41.98% ยังคงเป็นอาชญากรรมออนไลน์ ทั้งการหลอกโอนเงินและการซื้อของไม่ตรงปก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 40.46%
ทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเสนอข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน พบว่า 35.19% ไม่ค่อยเชื่อมั่น, 34.81% ค่อนข้างเชื่อมั่น, 18.40% เชื่อมั่นน้อย และอีก 10.69% เชื่อมั่นมาก
หากพิจารณาตัวเลขความเชื่อมั่นโดยรวมจะเห็นว่าโน้มเอียงไปทาง “ไม่ค่อยเชื่อมั่น-เชื่อมั่นน้อย” ต่อผลงานของหน่วยกำกับดูแล เมื่อผนวกรวม ตัวชี้วัด และวิธีการแก้ไขที่ยังไม่เป็นรูปธรรม นี่จึงเป็น “สงครามที่ยังไร้ทางชนะ” ของหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงของ “ประเสริฐ” แม่ทัพกระทรวงด้วย
เร่งการลงทุน ฟื้นฟูภาพลักษณ์ “รัฐบาลเพื่อไทย”
พ้นไปจากวาระการปราบอาชญากรรมไซเบอร์ “ประเสริฐ” ยังมีสิ่งที่คาใจ และต้องทำอีกหลายหัวข้อ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“ประเสริฐ” กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ มีสิ่งที่ค้างคาอีกมากตามแนวคิดของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องชู “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” โดยเฉพาะการขยายโอกาสด้านเทคโนโลยีและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่
“คลาวด์-เอไอ” ที่จะต้องเริ่มใช้กับหน่วยงานภาครัฐให้ทันแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 3 ที่ต้องเปลี่ยนรัฐบาลเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” โดยการใช้นโยบาย Cloud first policy ให้ทุกหน่วยงานรัฐบาล เลิกจัดซื้อจัดจ้างศูนย์ข้อมูลเอง แต่ให้รวมกันที่ศูนย์กลางเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดการนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปประมวลผลสำหรับเอไอเพื่อใช้งานเฉพาะทางต่อไป
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวต้องพึ่งพาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์เพิ่มเติมจาก “บิ๊กเทค” ระดับโลก เช่น Google, Microsoft, Amazon Web Service (AWS) รวมถึงบิ๊กเทคจีนอย่าง Alibaba Cloud และ Huawei ที่ต้องมีการตั้ง “ศูนย์ข้อมูล” ภายในประเทศ (Cloud Region) ที่ให้บริการได้ทั้งภูมิภาค รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล-คลาวด์ในประเทศ ซึ่งสถานะปัจจุบันมีเพียงการลงนาม MOU ว่า “จะทำ” และมีเพียง AWS ที่ประกาศการลงทุน 1.5 แสนล้านบาทในระยะ 15 ปี มาแล้วตั้งแต่รัฐบาลก่อน
MOU เป็นเพียงสิ่งที่บอกว่า “จะร่วมกันทำ” แต่ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็น “ตัวจริง” ในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศไทย
หากสามารถเร่งรัดให้มี “ตัวจริง” ทุ่มเม็ดเงินเพื่อจุดพลุเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้ จะไม่เพียงเร่งการเปลี่ยนโครงสร้างเทคโนโลยีหน่วยงานรัฐไปสู่ดิจิทัลเท่านั้น ทว่ายังเป็นตอบสนองภาพลักษณ์การเป็น “เซลล์แมนแห่งชาติ” ของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้อีกด้วย
และเหนือสิ่งอื่นใดการมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงใส่เข้ามาในระบบ แม้จะไม่ได้ส่งผลมากกับการจ้างงานโดยตรง แต่ก็เพียงพอจะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ว่า “รัฐบาลเพื่อไทยไม่สิ้นไร้ฝีไม้ลายมือในด้านเศรษฐกิจ”