หลายเดือนมานี้ภาครัฐประกาศข่าวดีเกี่ยวกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากต่างชาติถี่กระชั้นขึ้น คำว่า “ดาต้าเซ็นเตอร์” หรือศูนย์ข้อมูลกลายเป็น “Buzz word” ที่ถูกกล่าวซ้ำๆ เพื่อแสดงให้เห็นยอดการลงทุนมูลค่าสูงเป็นหมื่นล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานอย่างกว้างขวาง
แต่กระนั้น ก็มีเสียงแว่ววิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักลงทุน และกูรูเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า การลงทุนดาตาเซ็นเตอร์ ไม่ก่อเกิดประโยชน์อะไรให้กับประเทศไทย นอกจากใช้น้ำใช้ไฟราคาถูกในประเทศไทยแล้ว แทบไม่มีการจ้างงานใดๆ เกิดขึ้น
จริงๆ แล้วมูลเหตุที่ผู้คนในวงการเทคโนโลยี สมาคมธุรกิจ ตลอดจนหัวกะทิในหน่วยงานภาครัฐมีความมุ่งมาดปรารถนาจะดึง “บิ๊กเทค” มาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ มายาวนานหลายปีแล้ว สาเหตุไม่ใช่เรื่องของเม็ดเงินการลงทุน หรือ การจ้างงานเท่านั้น
ดาต้าเซ็นเตอร์ คือ ห้อง ตึก หรือสถานที่ไว้รองรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนโปรแกรมและบริการต่อเนื่องจากข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบัน ดาต้าเซ็นเตอร์ ก็แบ่งประเภทตามโครงสร้างการใช้งานที่ออกแบบไว้อีก ไม่ว่าจะเป็น ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ (Hyperscaler) สำหรับจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลมหาศาล ศูนย์ประมวลผลข้อมูลสำหรับปัญญาประดิษฐ์ หรือ พื้นที่เก็บข้อมูลเฉยๆ
ตัวอย่างเช่น กรณี Google เพิ่งประกาศเม็ดเงินลงทุน 36,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2568 – 2572 แบ่งเป็น 2 โครงสร้าง คือ
1) ดาต้าเซ็นเตอร์จัดเก็บข้อมูลแบบ Storage สำหรับแพลตฟอร์มวิดีโอแชริ่ง YouTube ซึ่งต้องการพื้นที่มหาศาลในการเก็บรักษาวิดีโอ ซึ่งจะสร้างที่ชลบุรี ในพื้นที่ของ WHA Corperation
2) โครงสร้างดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับ Cloud Region ซึ่งจะสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากเรามองในเชิงกายภาพจะเห็นว่ากรุงเทพฯ มีชุมสายไยแก้วนำแสงที่ลากผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ไปเชื่อมท่อในทะเลต่อกับจุดศูนย์กลางชุมสายเคเบิลใต้สมุทรที่เชื่อมทั้งโลก
เมื่อมีดาต้าเซ็นเตอร์ ที่เชื่อมกับทั้งโลกแล้ว คำที่ตามมาติดๆ คือคำว่า “คลาวด์” ซึ่งแบ่งง่ายๆ คือ คลาวด์สาธารณะ คลาวด์ส่วนบุคคล และคลาวด์ผสม บริการเหล่านี้เรื่องความมั่นคงในข้อมูลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ
อำนาจอธิปไตยของข้อมูลนั้นเกี่ยวกับการควบคุมข้อมูลตั้งแต่ช่วงเวลาที่รวบรวมข้อมูล และการจัดการวิธีการจัดเก็บ ประมวลผล และแบ่งปันข้อมูลข้ามพรมแดน อำนาจอธิปไตยนี้ทำให้ธุรกิจ รัฐบาล และบุคคลทั่วไปสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้ข้อมูลของตนอย่างไรได้นานก่อนที่จะเกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัว
ราวปี 2563-2564 ภาครัฐตระหนักถึงปัญหานี้ เนื่องจากข้อมูลและซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานราชการใช้อยู่ล้วนเป็นของต่างชาติ นโยบายการเปลี่ยนไปสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเก็บ เรียกใช้ และประมวลผลข้อมูลของประชาชน จึงได้ตั้ง “คลาวด์กลางภาครัฐ” หรือ GDCC บริหารจัดการโดย บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ และมีแนวโน้มการเติบโตจากความต้องการพลังคำนวณ 1-2 พัน Virtual Machine (VM) ในช่วงปีแรกๆ ปัจจุบันคาดการณ์ว่า อยู่ที่ 4-6 พัน VM และจะเพิ่มเป็น 5 แสน VM ใน 5 ปีข้างหน้า
สุดท้ายจึงเห็นว่ามาตรฐานด้านคลาวด์ของ บิ๊กเทค ฝั่งสหรัฐฯ เป็นที่ยอมรับในการรักษา ปกป้อง และประมวลผลข้อมูล จึงหาวิธีการออกแบบกฎระเบียบให้รองรับการใช้งาน คลาวด์สาธารณะจากเอกชนหรือจากบิ๊กเทคฯ เพื่อเก็บและประมวลผลข้อมูลบางส่วนของประชาชนคนไทย ทั้งในส่วนของรัฐและภาคธุรกิจ
สาระสำคัญของการเจรจาให้เกิดการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ของ “บิ๊กเทค” ไม่ใช่เพื่อโฆษณาว่าลงทุนกี่หมื่น กี่แสนล้านบาท แต่ต้องแสดงให้เห็นว่า การลงทุนนี้จะนำไปสู่การบังคับกำกับดูแลบริการซอฟต์แวร์ทั้งหลาย ให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เข้มงวดด้านถิ่นที่อยู่ของข้อมูล ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว รวมถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องจัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญหรือเป็นความลับ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ ความปลอดภัยสาธารณะ พลังงาน และสาธารณูปโภค
อุตสาหกรรมเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพสูง ควบคู่ไปกับอธิปไตยในการดำเนินงาน อธิปไตยในการจัดเก็บข้อมูล และอธิปไตยในการใช้งานซอฟต์แวร์ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตข้อบังคับของประเทศ
“ดาต้าเซ็นเตอร์” จึงมีผลกระทบทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ มันไม่ได้มาเพื่อสร้างการจ้างงาน แต่มาปลดล็อคการบังคับใช้กฎหมายด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้หลายอุตสาหกรรม
ธุรกิจที่มีแนวโน้มใช้ประโยชน์จากดาตาเซ็นเตอร์สาธารณะ ที่มีถิ่นที่อยู่ของข้อมูลภายในพรมแดนประเทศ คือ ธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลเปราะบาง และต้องการความปลอดภัยสูง ทั้งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ทั้งบริการสาธารณสุขทั่วไป และการแพทย์แม่นยำ เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพและรักษาโรคที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนธุรกิจ หรือธุรกิจการเงิน ที่ต้องเก็บข้อมูล ธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวนมาก และต้องการความปลอดภัยสูง รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบโจทย์ ผู้ใช้บริการมากขึ้น