395 ต่อ 312 บรรทัดฐานของการห้ามโหวตนายกฯ ซ้ำในอนาคต?

ที่ไม่ชัดก็ชัดแล้ว สำหรับละครการเมืองในพ.ศ.นี้ ว่าใครจะได้รับบท Casting เป็นตัวละครใด ไฟนอลกำลังใกล้เข้ามาหลังวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ให้สภาลงมติตามข้อบังคับที่ 151 ตีความและวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการประชุมที่ 41 ในการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ในการโหวตนายก รอบ 2 เป็นญัตติซ้ำ และญัตติต้องตกไป หรือไม่

ต้นเรื่องเริ่มแรกมาจาก สุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นรอบที่ 2 หลังจากล่มไปในรอบแรก ไม่นานนัก อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี รวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นเสนอคัดค้านว่าการเสนอชื่อดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาฯ (จับตาดูตัวละครจากพรรครวมไทยสร้างชาติคนนี้ให้ดี)

กระนั้นอาจารย์วันนอร์ร่วมกับพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาฯ ก็เปิดเกมอนุญาตให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งซีกฝั่ง ส.ส. และส.ว. เหตุผลความจริงหลักที่นักกฎหมายหลายสำนักมองมาก่อนหน้านี้กรณีดังกล่าวไม่เป็นญัตติแต่อย่างใดเพราะเป็นการเสนอให้พิจารณาผู้สมควรดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และเป็นการเฉพาะเรื่องที่รัฐธรรมนูญมิได้อนุญาตให้ใครก็ได้ที่จะเสนอแต่ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส. เกิน 25 เสียง เหตุผลและเจตนารมณ์จึงเป็นคนละเรื่องกับญัตติ

ขณะเดียวกันอีกซีกฝั่งหนึ่งบอกในความหมายว่าเหตุดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาฯ รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีถึง 3 คน เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาคุณสมบัติหากรัฐสภาฯ ไม่พิจารณาบุคคลดังกล่าวแล้วก็พิจารณาบัญชีรายชื่อคนถัดไป หากไม่มีก็ต้องยอมสละไป และหากรัฐสภายอมให้เป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดเหตุการณ์การให้ผลประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกเสียงที่จะโหวตใหม่ในชื่อคนใหม่อีกรอบ ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ปิดท้ายด้วยคำพูดของนพดล ปัทมะ จากพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นพูดเป็นคนสุดท้าย เจ้าตัวยืนยันตามสไตล์คนเคยกุมบังเหียนบัวแก้วว่า จะรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เหตุดังกล่าวไม่ใช่ญัตติ Motion กับ Nomination ในความหมายภาษามันคนละเรื่อง

ถกเถียงกันไปมาราว 6-7 ชม. สุดท้ายที่ประชุมร่วม เห็นด้วย 395 คะแนน ไม่เห็นด้วย 312 คะแนน งดออกเสียง 8 คะแนน ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน โดยที่ประชุมเห็นว่า การใช้มติตามข้อ 41 ดำเนินการใช้ได้ ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาให้กลับมาได้อีก

กรณีเช่นนี้จะเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ นักกฎหมายหลายคนถึงกับไปไม่เป็น ไม่รู้จะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร รู้แต่มันเป็นเจตนาของผู้ร่าง ผู้เคยใช้ และผู้ที่อยากใช้เพื่อสานต่ออำนาจ

หากพิจารณาตามบริบทในทางนิติศาสตร์แล้วคงจะปวดหัวน่าดูสำหรับการตีความเช่นนี้ เพราะตำราลำดับชั้นของกฎหมาย รัฐธรรมนูญย่อมมีศักดิ์สูงกว่า เหตุผลในเรื่องข้อบังคับในเวลาเช่นนี้จึงเป็นเจตนาทางรัฐศาสตร์

ฉะนั้นการมองปัญหานี้ว่าการกระทำของรัฐสภาในครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คงมีหลากหลายให้ต้องวินิจฉัยในเชิงกฎหมายกันอีก แต่แน่นอนว่าในทางรัฐศาสตร์ครั้งนี้ชอบด้วยผู้มีอำนาจแล้วและนั่นคือสิ่งที่เขาอยากให้เป็น

ส่วนเรื่องจะเป็นบรรทัดฐานหรือไม่นั้น คงไม่มีทางเป็นเพราะด้วยบริบททางการเมืองไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้ ย่อมไม่จำกัดกาล เป็นอกาลิโกโดยแท้ หากมีเหตุการณ์แปรเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเคยเรียกว่าเป็นประเพณีปฏิบัติ บรรทัดฐานในอดีต ก็ย่อมถูกลบได้เสมอ ฉะนั้นแล้ว ไม่ต้องกังวลว่านี่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่เพราะการกำหนดบรรทัดฐานขึ้นอยู่กับดุลพินิจในบางช่วงเหตุการณ์เท่านั้น อยู่ที่ว่าจะนำมาใช้หรือไม่ ดังปรากฏให้เห็นในวันนี้ นี่คือเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ