เจาะลึกจุดบกพร่องนักยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ผู้เป็นเสมือนหนึ่ง “ประธานกลุ่มนักยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย” โพสต์เฟซบุ๊คร่ายยาวถึงความในใจก่อนประกาศจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วอย่างเป็นทางการ

“การตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทย เรายอมเสียต้นทุนทางการเมืองบางส่วนด้วยความเชื่อว่า ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดา ล้วนผ่านความเจ็บปวดฉันใด การเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น ย่อมต้องผ่านความเจ็บปวดฉันนั้น”

ทั้งก่อนและหลัง วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยทยอยจ่ายต้นทุน พบพานความเจ็บปวดอย่างต่อเนื่อง

คำวิจารณ์ทั้งหนักและหนัก เต็มโลกออนไลน์ ขณะที่ออนกราวด์ ก็พบกับผู้ประท้วงในทุกสัปดาห์ที่หน้าพรรค วิกฤติศรัทธา วิกฤติความไว้วางใจกำลังสั่งสม

กระทั่งนโยบาย “ดิจิตัล วอลเล็ต 10,000 บาท” ที่หวังใช้พิชิตใจประชาชนเมื่อได้เป็นรัฐบาล ยังโดนไล่ตรวจสอบ โดนวิจารณ์เต็มไปหมด

จนถึงวันนี้ มีคำถามอยู่หนึ่งข้อว่า พรรคเพื่อไทยเดินมาถึงจุดตกต่ำในทางการเมืองเช่นนี้ได้อย่างไร?

คำตอบอยู่ที่ “กลุ่มนักยุทธศาสตร์” พรรคเพื่อไทย ที่ประเมินและตัดสินใจผิดพลาดในหลายจุด ทั้งก่อน และหลังวันเลือกตั้ง

“นักบริหารตัวจริง” ในพรรคเพื่อไทยวางกลยุทธ์ วางนโยบายอย่างกว้างๆ มาดี สมยี่ห้อพรรคไทยรักไทย แต่ “นักยุทธศาสตร์” กลุ่มนี้ นำพาพรรคเพื่อไทยไปสู่การเจรจา,ต่อรอง และภาคปฏิบัติที่ด้อยกว่า

นักยุทธศาสตร์คนสำคัญในระยะเลือกตั้ง ประกอบด้วย

“อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย” คุมยุทธศาสตร์ใหญ่ในภาพรวม “หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” คุมยุทธศาสตร์ด้านการผลิตนโยบาย และ “หมอเลี้ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” คุมยุทธศาสตร์การสื่อสาร แคมเปญการเลือกตั้ง

คนเหล่านี้ มักถูกเรียกเชิงประชดว่า “นักรบห้องแอร์” กล่าวคือ ประเมินและตัดสินใจจากหน้าข่าว จากโลกออนไลน์ จากสถิติ จากโพลล์ แต่ไม่เห็นหน้างานจริง ไม่ได้สัมผัสอารมณ์โกรธของประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ

ส่วนนักยุทธศาสตร์ และทีมเจรจาคนสำคัญในระยะหลังเลือกตั้ง ซึ่งรับภารกิจหลักในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล คือ “อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย” “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ทีมเจรจาชุดนี้เองที่ตัดสินใจนำพรรคเพื่อไทยเข้าไปผนึกแน่นกับพรรคก้าวไกลในช่วงต้น, ถอยออกจากพรรคก้าวไกลในช่วงต่อมา และคอยผลิตเหตุผล หาความชอบธรรม ให้กับพรรคพรรคเพื่อไทยในจังหวะก้าวต่างๆ ทางการเมือง

กลุ่มนักยุทธศาสตร์-ทีมเจรจาเหล่านี้ คือหนึ่งในปัจจัยที่นำพรรคเพื่อไทยไปสู่จุดตกต่ำในทางการเมือง

หนึ่งในฉากสำคัญทางการเมืองที่เป็นข้อผิดพลาดใหญ่คือเดินเกมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลไวเกินไป ทำให้พรรคเพื่อไทยเดินไปสู่จุดที่ด้อยกว่าในทางการเมือง

ศักยภาพของทีมเจรจาที่ด้อยกว่า ย่อมนำไปสู่ผลของการเจรจาที่ด้อยกว่า ชนิดที่เรียกได้ว่าเจรจาแบบผู้แพ้ตั้งแต่ในช่วงต้น

ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงในทางการเมืองแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่ย่ำแย่ตั้งแต่เริ่มต้น

ผลเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 พรรคก้าวไกลได้ที่นั่ง 151 ที่นั่ง มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 14.4 ล้านเสียง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง 141 ที่นั่ง มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 10.9 ล้านเสียง

ย้ำอีกครั้งว่า จำนวนเก้าอี้ห่างกันอยู่เพียง 10 ที่นั่ง ด้วยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 3.5 ล้านเสียงเท่านั้น

ย้ำอีกครั้งด้วยว่า พรรคเพื่อไทยย่อมมีความชอบธรรมทางการเมืองที่จะสนองตอบต่อผู้เลือกตั้ง 10.9 ล้านเสียง ที่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาปากท้องเหมือนที่ทำได้สำเร็จในทุกครั้งที่เป็นรัฐบาล

10.9 ล้านเสียงนี้ เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาพื้นฐานในชีวิตของพวกเขาได้

นี่คือ “ประชาธิปไตยกินได้” ในนิยามของผู้เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

ทั้งเป็นการเลือกพรรคเพื่อไทยบนเงื่อนไขที่รับรู้ว่า พรรคที่เราเลือก ไม่ใช่พรรคสุดโต่ง และมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกับพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ มาทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ลืมตาอ้าปากได้ แบบที่ทำสำเร็จมาแล้วในรัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลพลังประชาชน

ให้หลังเลือกตั้ง 8 วัน หรือในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยนั่งแถลงบนเวทีเดียวกับพรรคก้าวไกล และอีก 6 พรรคร่วม ประกาศจัดตั้งรัฐบาล ชู “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

เดินเกมตามพรรคก้าวไกลทุกอย่าง

เลยเถิดไปถึงขั้นทำ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค

เลยเถิดไปถึงขั้นตอนการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ

เมื่อเข้าไปแนบแน่น-ใกล้ชิดขนาดนั้น จึงถอนตัวได้ยาก

และเมื่อเข้าไปแนบแน่นขนาดนั้น ในจังหวะที่จำเป็นต้องถอนตัวเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ จึงได้รับคำวิจารณ์อย่างสาหัส เจอแรงต้านทั่วสารทิศ และจึงต้องเสียต้นทุนไปอย่างมหาศาลแบบที่ภูมิธรรมได้บอกความในใจไว้

มองจากวันนี้ ถ้าการเจรจาในครั้งแรก พรรคเพื่อไทยยืนยันในตัวตนของตัวเองมากกว่านี้ กอดผู้เลือกตั้งทั้ง 10.9 ล้านเสียงแน่นๆ แล้วดำเนินการเจรจา-ต่อรอง จัดตั้งรัฐบาลแข่งตั้งแต่วันแรก เหมือนที่เกิดขึ้นตามหลักประชาธิปไตยสากลในทั่วโลก ก็จะไม่ถูกข่ม ไม่ถูกดูแคลน จากมวลชลก้าวไกลแบบวันนี้

การกระชากกันแต่เริ่ม โดยอ้างฐานเสียง-ความชอบธรรมของตัวเอง ย่อมสูญเสียต้นทุนทางการเมืองน้อยกว่า การเข้าไปแนบแน่น เล่นเกมตามน้ำไป แล้วถอยฉากออกมาทีหลัง

ก้าวไกลมี 14 ล้านเสียงของก้าวไกล เพื่อไทยก็มี 10.9 ล้านเสียงของเพื่อไทย เมื่อพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคอันดับ 2 ที่มีจำนวนเก้าอี้ห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง ย่อมสามารถจัดตั้งรัฐบาลแข่งกันได้

หากพรรคเพื่อไทย ยืนยันเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่วันแรก ประเทศชาติยิ่งเดินหน้าได้เร็วยิ่งกว่านี้ด้วย จะเป็นม้วนเดียวจบที่นักลงทุน นักธุรกิจ ขานรับ

ที่สำคัญคือกลุ่มนักยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องสรรหาคำอธิบายหรือข้ออ้างทางการเมือง มาบรรยาย-ขยายความให้เสียต้นทุนยิ่งกว่าเดิม แบบที่ “ภูมิธรรม” ทำอยู่ในเวลานี้

“พรรคเพื่อไทยต้องคิดใหญ่ ด้วยใจที่ใหญ่ ใจที่กว้าง ภายใต้สถานการณ์ทางเลือกที่คับแคบอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องทำงานกับความคิด ความรู้สึกของทุกคนภายในพรรคอย่างมาก เมื่อมองเห็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ของพรรคเพียงฝ่ายเดียว”

“โดยเปิดใจกว้าง จับมือทำงาน ร่วมกับทุกพรรคการเมืองที่ล้วนแล้วแต่ได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้งมาจากประชาชนที่หลากหลาย ในจำนวนสัดส่วนที่แตกต่างกัน เพราะนี่คือ ตัวแทนของประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศที่ต่างก็มีสิทธิ์และเสียงเท่าเทียมกัน”

“การตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยเรายอมเสียต้นทุนทางการเมืองบางส่วนด้วยความเชื่อว่า “ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดา ล้วนผ่านความเจ็บปวดฉันใด การเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น ย่อมต้องผ่านความเจ็บปวดฉันนั้น”

การเจรจาด้วยยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดแต่เริ่ม อาจลดการสูญเสียต้นทุนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้มากกว่านี้

ทว่าการเจรจาด้วยยุทธศาสตร์ที่ด้อยกว่าเช่นนี้ ย่อมทำให้คาดการณ์ได้ว่า ประชาชนจะลงโทษพรรคเพื่อไทยหนักหน่วงในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ภารกิจครั้งนี้ท้าทายยิ่งกว่าเคย นั่นคือที่มาให้ “ทักษิณ” ต้องกลับมาบริหารวิกฤติครั้งนี้ด้วยตัวเอง!!