เจาะลึกงบแผ่นดินปี 2567 ใกล้คลอดแล้ว

คำแถลงของ “ภูมิธรรม” รองนายกรัฐมนตรี ที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายประการ

กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,480,000,000,000 ล้านบาท หรือ 3.48 ล้านล้านบาท

มีหน่วยรับงบประมาณ (หรือขอรับงบประมาณจากรัฐบาล) ทั้งสิ้น 737 หน่วย

ได้อาศัยหลักธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรมในการจัดทำงบประมาณ และสามารถจัดทำงบได้เร็วขึ้น 2 สัปดาห์

มีการปรับลดงบประมาณลงไปทั้งสิ้น 9,204,109,400 บาท หรือ 9.2 พันล้านบาท ผ่านการตัดงบประมาณ เช่น การฝึกอบรมสัมมนา, การจ้างเหมาบริการ, การจ้างที่ปรึกษา, การจัดการประชาสัมพันธ์, การเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นต้น รายการที่มีผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้และคาดว่าจะไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันในปีงบประมาณ หรือ รายการผูกพันงบประมาณเดิมที่ผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่เสนอไว้,รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือที่ดำเนินการไปแล้วโดยใช้จ่ายจากการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณหรือการเปลี่ยนแผนปฏิบัติงาน, รายการที่สามารถยกเลิกโครงการที่หมดความจำเป็นหรือสามารถใช้จ่ายเงินจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเงินงบประมาณได้

มีการเพิ่มงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็นและหน่วยงานของศาล องค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์การอัยการเพื่อให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,204,109,400 บาท ซึ่งเป็นวงเงินตามจำนวนที่ปรับลดงบประมาณได้

มีการตั้งงบประมาณที่มีนัยสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงการตั้งงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐรายการบุคลากรภาครัฐจำนวน 191,196,700 บาท ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นเงินอุดหนุนสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 43 แห่ง หลังจากที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศเรียกร้องอย่างเข้มข้น และ กระทรวงมหาดไทย ต้องทำเรื่องของบกลางมาเติมงบประมาณในส่วนนี้เป็นระยะ

ขณะที่ “ไหม-ศิริกัญญา” มือเศรษฐกิจจากพรรคก้าวไกล ลุกอภิปราย เสนอปรับลดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จาก 3.48 ล้านล้านบาท ให้เหลือ 3.45 ล้านล้านบาท (ปรับลด 3 หมื่นล้านบาท) โดยให้เหตุผล เช่น

รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ข้อมูล ณ วันที่ 15 มี.ค. 67 รายจ่ายประจำเบิกจ่ายไปแค่ 79% ส่วนรายจ่ายลงทุนอนุมัติไปแค่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งปกติทั้งปีจะมีการอนุมัติรายจ่ายลงทุน 6 แสนล้านบาท แต่งบปี 2567 เบิกจ่ายไปแค่ 55% ก่อหนี้ผูกพันใช้จ่ายไปแล้ว 70%

รัฐบาลประมาณการรายได้ผิดพลาด ออกนโยบายที่กระทบกับรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่มีการเก็บภาษีการขายหุ้น งดการนำส่งรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ลดภาษีสรรพสามิต จำนวน 6 หมื่นล้านบาท ทั้งยังมีการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบประมาณ

เมื่องบประมาณปี 2567 คลอดและบังคับใช้ ก็จะถึงคิวปรับคณะรัฐมนตรีอย่างที่หลายฝ่ายทางการเมืองรอคอย