การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจาก เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มี “พรรคการเมือง” ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ลงสมัครเป็นครั้งแรก ซึ่งพรรคการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นในช่วงนั้น คือ “พรรคเสรีมนังคศิลา” ที่เป็นพรรคการเมืองที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค โดยชื่อพรรคเสรีมนังคศิลามาจากที่ทำการพรรค ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านมนังคศิลา ถนนหลานหลวง กรุงเทพมหานคร
การลงสมัครรับเลือกตั้งของท่านผู้นำ
ในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นครั้งแรกที่จอมพล ป. พิบูลสงครามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “ส.ส. ในจังหวัดพระนคร” ซึ่งมี ส.ส. ได้ทั้งสิ้น 9 คน ภายใต้สโลแกนที่เป็นลายมือของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ระบุว่า “ความสุขของประชาชนชาวไทยอย่างเดียวเท่านั้นที่คณะ 9 คนของเรา ปรารถนาอย่างยิ่งในการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500” พร้อมกับลงชื่อ “ป. พิบูลสงคราม” โดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงสมัครในหมายเลข 25 และอีก 8 คน ได้แก่
พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ หมายเลข 26
พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ) หมายเลข 27
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) หมายเลข 28
พลเอก มังกร พรหมโยธี หมายเลข 29
พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หมายเลข 30
พลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ (ดล บุนนาค) หมายเลข 31
พลเอก เดช เดชประดิยุทธ์ หมายเลข 32
พันตรี รักษ์ ปันยารชุน หมายเลข 33
เสรีมนังคศิลาแลนด์สไลด์ สู่ข้อกล่าวหาการโกงการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลาได้ ส.ส. ไปทั้งสิ้น 86 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 160 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 53.75 ของจำนวน ส.ส. ทั้งสภา ทิ้งห่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส. มากเป็นอันดับสอง ที่มี ส.ส. เพียง 30 คน โดยเฉพาะในเขตพระนครนั้น พรรคเสรีมนังคศิลากวาดที่นั่งไปได้ทั้งสิ้น 7 ที่นั่ง จาก 9 ที่นั่ง ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ) พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) พลเอก มังกร พรหมโยธี และพลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ (ดล บุนนาค) ขณะที่อีก 2 ที่นั่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์คู่ปรับสำคัญของพรรคเสรีมนังคศิลา
ผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลาถือเป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแบบเด็ดขาด แต่ก็ต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนในช่วงเดือนมีนาคม 2500 ที่มีการกล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “การเลือกตั้งสกปรก” ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้แก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว แต่จอมพลสฤษดิ์แสดงบทบาทเป็นตัวกลางในการนำกลุ่มผู้ชุมนุมมาพบจอมพล ป. และทำให้ท่านผู้นำต้องออกมารับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมโดยตรงทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 144 คะแนน ถือว่าเป็นคะแนนที่สูงมาก
แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวกลับเป็นการสร้างความนิยมให้กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพิ่มมากขึ้น และในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีคะแนนเสียงท่วมท้นในสภา ไปในวันที่ 16 กันยายน 2500 ถือเป็นการปิดฉากการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปโดยปริยาย