เพราะมีลุง..จึงมีระบบเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย สารจากจดหมายฉบับที่ 10

จดหมายของลุงป้อมทยอยเผยความในใจของตัวเอง และของพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเป็นระยะ

ในจดหมาย 6 ฉบับแรก พูดถึงเป้าหมาย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” พูดถึง “ความเป็นนายทหาร” ที่ผ่านการหล่อหลอมในโลก “อนุรักษ์นิยม” เข้าใจ “อีลิต-ชนชั้นนำ” ได้มีโอกาสทำงานการเมืองร่วมกับ “นักการเมือง” ที่เชื่อมั่นใน “ประชาธิปไตย-เสรีนิยม-หลักการเสียงข้างมาก”

ลุงป้อมไม่ได้เฉลยวิธีก้าวข้ามความขัดแย้งไว้ทั้งหมด ลุงพูดว่า ถ้าอยากให้ความขัดแย้งหมดไป ให้เลือกลุงเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก่อน

ในจดหมายชุดหลัง มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

จดหมายฉบับที่ 7 ยิงตรงไปที่ “น้องชาย” ใน 3ป. ลุงป้อมบอกว่า ที่ตัดสินใจ ลงเป็นแคนดิเดตหนึ่งเดียวของพรรค พร้อมกับลงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ก็เป็นเพราะ “ผมจะได้มีความมั่นใจว่า คะแนนที่ได้มานั้น ประชาชนเลือกผม ผมตั้งใจเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย”

ในเวลานั้นที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มีกระแสข่าวว่า ป.ประยุทธ์ จะลงเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 เหมือนกัน แต่ถึงที่สุด ก็วางทางถอยไว้ด้วยการรับเป็นเพียงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น สะท้อนถึงปัญหาความเป็นเอกภาพและข้อจำกัดภายในพรรคอย่างยิ่ง

จดหมายฉบับที่ 9 พูดถึงการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ลุงป้อมบอกให้ดูผลเลือกตั้งเป็นหลัก และพูดอย่างจัดเจนในฐานะคนที่เป็นผู้จัดการรัฐบาลมาแล้ว 2 รอบ คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลประยุทธ์ ว่า

“คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไปไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น มีข้อมูลที่จะพูดถึงการปรับเปลี่ยนของพรรคเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุดเสมอ”

จดหมายฉบับนี้ช่วยย้ำว่า คนอย่างลุงป้อมมีไพ่หลายใบ ออกได้หลายหน้า เหมือนที่ลุงป้อมพูดไว้ว่า “การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า”

“แพทองธาร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ตอบคำถามนักข่าวไว้ว่า ถ้าพูดเรื่องจับมือ ก็ไม่ชอบคนที่ทำรัฐประหาร

เมื่อยื่นไมค์สัมภาษณ์ลุงป้อมตอนเย็น ตัวท่านเองก็ย้ำ เหมือนที่ย้ำมาหลายครั้งแล้วว่า ท่านไม่ได้เป็นคนทำรัฐประหาร น้องชายเพียงแต่ชวนมาช่วยงานเท่านั้นเอง

เป็นอันว่า โอกาสที่จะได้เห็นการข้ามขั้ว-ข้ามสายพันธ์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะมีเงื่อนไขเฉพาะหน้ารออยู่เต็มไปหมด

จดหมายฉบับที่ 10 เป็นอีกครั้งที่ช่วยตอกย้ำความเป็นนักประชาธิปไตยของลุงป้อม

ในฐานะมือดีลที่สามารถผลักดันให้เกิดการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากแบบปี 2562 กลับไปสู่แบบปี 2540 อันเป็นระบบที่ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมาก อันเป็นระบบที่พรรคใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยได้เปรียบ

ตอนนั้นผมเป็นผู้นำ “พลังประชารัฐ”ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีแรงกดดันมากมายทั้งในพรรคและนอกพรรค อย่างที่รู้ๆกันว่าแม้แต่ “ผู้นำในทำเนียบรัฐบาล”ก็ส่งสัญญาณผ่านคนใกล้ชิดว่า “ต้องกลับเป็นบัตรใบเดียว และปาร์ตี้ลิสต์หาร 500” เพื่อความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาล ตัดโอกาสที่จะชนะของพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ เป็นผมเองที่เห็นว่า “จะใช้อำนาจทำแบบนั้นไม่ได้ ถึงเวลาที่จะต้องจัดการให้การเมืองเดินหน้าไปโดยยึดหลักการประชาธิปไตย”

ไม่ว่าจะชอบหรือจะชัง และไม่ว่าจะอ่านจดหมายจากมุมมองใด แต่นี่คือการรีแบรนด์ดิ้งผู้นำเผด็จการ ให้กลายเป็นนักประชาธิปไตยผ่านจดหมาย 10 ฉบับ ทว่าไม่ใช่แค่รีแบรนด์ดิ้ง แต่มีปฏิบัติการจริง คือการใช้อำนาจและบารมีที่มีอยู่ในมือ เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ทั้งสะท้อนว่า ดีลการเมืองหลังวันที่ 14 พ.ค. 2566 มีมายาวนานเป็นปีแล้ว!!