การเมืองทศวรรษนี้ ไม่มีข้อมูลใหม่ มีแต่ข้อมูลเดิม


 ก้าวแรกของการเมืองไทยในเก้าทศวรรษเวลานี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฝ่าย “ผู้มีอำนาจ” กับฝ่าย “การเมืองใหม่” อย่างไรก็ดีแม้ชัยชนะจะท่วมท้นถล่มทลายมาให้พรรคแกนนำในฝ่ายการเมืองใหม่ถึง 14 ล้านเสียง แต่กระนั้นก็ยังไม่พอครองเสียงข้างมากในรัฐสภาซึ่งมี ส.ว. กลุ่มคนอีกกลุ่มซึ่งใช้สิทธิการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในสภาฯ กลับคืนบ้าง

และปรากฏให้เห็นแล้วว่าการฉลาดนิ่งของกลุ่มผู้มีอำนาจตลอด 1 เดือนกว่าหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง นั้นคือการอยู่บนภู ดูหมากัดกัน แย่งชิงอำนาจ ระแวดระวังต่อกัน หลายครั้งต่อหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วเกมนี้ไม่เคยแม้แต่จะมีข้อมูลใหม่ หากแต่มีข้อมูลเดิมที่รับรู้กันในหมู่นักการเมืองว่า การเดินเกมในหมากรุกไทยนั้นต่างจากหมากรุกสากลโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้นแล้วประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงสั่งสมประสบการณ์ให้พวกเขาที่เคยอยู่กันคนละฟากฝั่งในหลายทศวรรษที่ผ่านมาต้องเลือกที่จะเล่นเกมให้เป็น เดินเกมให้ชนะ และลดความเสี่ยงในการแบกรับต้นทุนที่จะตามมา

นี่คือการฉลาดเล่น แต่จะฉลาดคิดหรือเปล่าคงเป็นอนาคตที่จะพิจารณา ไล่มาดูเพื่อความเข้าใจในการเมืองไทยถึงคำว่า “ข้อมูลใหม่” กันบ้าง หากเพียงแต่จะเกริ่นนำว่าหมดยุคข้อมูลใหม่แต่เป็นข้อมูลเดิมแล้ว คงมิถึงแก่นประดับสมอง

คำว่า “ข้อมูลใหม่” แรกเริ่มเกิดมาจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2523 ต่อกรณีการต่ออายุราชการพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นมีการแสดงออกคัดค้านอย่างรุนแรงในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น

แต่จู่ๆ ในระยะกระชั้น ก็มีการกลับมติพรรคหลังจากไตรรงค์ สุวรรณคีรี โฆษกรัฐบาลในขณะนั้นเข้าไปชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถประกาศต่อสาธารณะได้ และจำเป็นต้องเรียกมาชี้แจงกันเป็นการส่วนตัว

โดยตอนนั้นถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นติดปัญหาว่า จะหาทางลงเพื่อบอกประชาชนอย่างไรไม่ให้ดูน่าเกลียด ไตรรงค์จึงบอกถนัด คอมันตร์ ว่า

“ในฐานะอดีตที่ผมเคยเรียนวิชาสถิติมา เวลาเรารันคอมพิวเตอร์เราพันช์ตัวเลขใส่เข้าไป ซึ่งสมัยก่อนคอมพิวเตอร์ยังใช้ภาษา “ฟอร์แทรน” (Fortran) คอมพิวเตอร์ก็จะคำนวณออกมา ไอ้นี่ถูกไม่ถูก บางครั้งเชื่อได้ 80 เปอร์เซ็นต์ เราได้ตัวเลขออกมาใหม่ หรือ NEW DATA ใส่แล้วรันใหม่ มันอาจจะออกมาว่าเชื่อถือไม่ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ซึ่งนั่นคือที่มาของคำว่า “ข้อมูลใหม่”

ไตรรงค์จึงเสนอว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้ใช้คำนี้เป็นการเหตุผลในการสนับสนุนพลเอกเปรม ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นแม้จะเอาตัวรอดไปได้ แต่ก็โดนสังคมก่นด่าอยู่ไม่น้อย


จากอดีตถึงปัจจุบันคำว่าข้อมูลใหม่ก็ปรากฏอยู่เนืองๆ เสมอ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์พิเศษทางการเมืองไทยชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ยุคนี้เห็นแล้วว่าบางสิ่งอาจไม่ต้องการข้อมูลใหม่อะไรมากแต่เพียงแค่พูดข้อมูลเดิมซ้ำๆ ไม่ต้องย้ำ ต้องขอ เพียงแค่ใช้ประสบการณ์นำ บางคนก็พร้อมจะมอบให้ 
 
นั้นคงเป็นสรุปสำหรับฉากทัศน์การเมืองไทยในก้าวแรกของเก้าทศวรรษที่เริ่มคลายล็อกและจะเป็นแบบเดียวกันในก้าวต่อๆ ไป ลุงบางคนถึงได้ใช้คำว่า “ตามเป็น เย็นพอ รอได้”

การเมืองไม่แน่ไม่นอน ควบคุมไม่ได้ แต่ต้อง “ฉลาดนิ่ง ฉลาดเล่น และฉลาดรอ”