เวลา 13.30 น. วันที่ 21 ส.ค.66 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำแถลงพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาล 11 พรรค จำนวน 314 เสียงไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ ได้มีมติร่วมกันเสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการรวบรวมพรรคต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลดังนี้
-พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง
-พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
-พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
-พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
-พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
-พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง/ รัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง
-พรรคอื่นๆอีกจำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง/ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง/ พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง/ พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง/ พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง
พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละพรรคมาตกลงเรื่องการร่วมมือและแบ่งงานกันทำ โดย “ทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น digital wallet , ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ และจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์” ทั้งนี้ พรรคร่วมจะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และนำมาจัดทำเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป
พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอกราบเรียนว่า ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์หนี้สินของครัวเรือน ภาคธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางได้รับผลกระทบมาแล้วเป็นเวลานาน ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างและกลไกเพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตระหนักดีว่าในสถานการณ์ดังกล่าวเราไม่อาจจะทอดเวลาไปมากกว่านี้ หรือจำนนต่อสถานการณ์ขัดแย้งที่ประเทศและประชาชนตกอยู่ในวงล้อมที่เสียโอกาสไปทุกขณะ
การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อยู่บนฐานความรับผิดชอบต่อประชาชนในสถานการณ์ที่ปัญหาทุกด้านส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องรุนแรง แม้พรรคเพื่อไทยจะเผชิญกับวาทกรรมหรือคำกล่าวหาที่รุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรารับรู้ความขัดแย้งดังกล่าวด้วยใจที่เป็นธรรม และตั้งใจมุ่งสู่เป้าหมายที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้นเป้าหมายหลักในวาระนี้คือการเข้ามาร่วมรับผิดชอบในวาระประเทศและวาระของประชาชน
พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายด้วยการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งทำงานเพื่อฟื้นโครงสร้างเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายพัฒนามาตรการกลไกเพื่อความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสร้างสรรค์ พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า “ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะมีอดีตพรรคการเมืองในรัฐบาลที่แล้วร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคจะร่วมกันทำงานกับพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ดังเช่นที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย” และพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรักสามัคคีปรองดองของคนในชาติ และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป
จากแถลงการณ์และเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น เราจึง “ขอรับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน และทุกพรรคการเมือง มาร่วมกันผลักดันวาระประเทศ เพื่อดำรงความมุ่งหมายที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศ และดูแลสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ ร่วมกันลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งในประเทศ ร่วมกันพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและการกินดีอยู่ดีของประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น”