“ชัยธวัช” คือเบื้องหลังการเติบโตของ พรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกล ให้หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ “ชัยธวัช” ก้าวมาเล่นบททำในฐานะ “เลขาธิการพรรค”
เขาอยู่กับทุกการขยับของพรรคสีส้มตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตั้งแต่วันที่โดนปรามาสว่าจะได้ สส. เพียงหลักหน่วย จนถึงการรุกคืบสู่หลักร้อย
เมื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โดนหมายหัวจากชนชั้นนำ ในระดับอาจโดนตัดสิทธิทางการเมือง ยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลเวลานี้ จึงผลักดัน “ชัยธวัช” ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำพรรคคนใหม่
และจากผู้นำพรรค จะก้าวขึ้นเป็น ผู้นำฝ่ายค้านในลำดับถัดไป
นั่นเป็นยุทธศาสตร์ที่จะใช้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ปฏิบัติการค้านให้เต็มที่ เพื่อรักษา 14 ล้านเสียงเดิม เพิ่มเติมด้วยเสียงใหม่ๆ อีกหลักหลายล้าน
นำไปสู่ชัยชนะเกิน 251 ที่นั่งในสภาฯ แก้โจทย์คณิตศาสตร์การเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาลที่พวกเขาทำไม่สำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้
ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน “ชัยธวัช” นั่นเองที่เป็นคนจุดประเด็นสู่สาธารณะในเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุดต่อ “โจทย์การเมืองใหม่”
“โจทย์การเมืองใหม่ที่เป็นใจกลางของยุคสมัยนี้ คือ อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของใคร แล้วอำนาจทางการเมืองของประเทศนี้ รวมศูนย์อยู่ที่ไหน จะอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรืออยู่ที่อำนาจกองทัพ องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และเครือข่ายทุนใหญ่ที่แนบแน่นกับอำนาจตามจารีตประเพณี”
“เราต้องการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน เพื่อสร้างผู้แทนราษฎรในความหมายที่ควรจะเป็นจริงๆ เพื่อผลักดันโครงการเปลี่ยนประเทศไทยผ่านระบบรัฐสภา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนอำนาจสูงสุดของประชาชน”
“เราเกิดขึ้น เพราะการเมืองเดิม สนใจแต่จำนวน สส. ในสภา เอาชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้ แต่ไม่เคยเอาชนะความคิดในสังคมเลย รัฐบาลที่แม้จะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จึงไม่สามารถปกป้องอำนาจของประชาชนได้ ไม่สามารถผลักการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง โครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างสังคมได้”
.
“สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ก้าวไกลจึงเป็นคำตอบแห่งยุคสมัย ทำงานการเมือง เพื่อเอาชนะทางความคิด ทำงานทางความคิด เพื่อเอาชนะทางการเมืองในที่สุด”
.
“ก้าวไกลจึงไม่ใช่แค่พรรคการเมือง แต่ก้าวไกลคือสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง”
.
เช่นเดียวกับในวันโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ หนแรก “ชัยธวัช” ลุกอภิปรายถึงความจำเป็นในการโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ โดยเชื่อมโยงกับประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดในทางการเมือง
.
“คำถามดังๆ ในใจของเขาว่าหากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเป็นของใครกันแน่ และยังมีคำถามคำโตๆ ว่าตกลงประชาชนอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
.
“ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใดๆ ของเราพรรคก้าวไกล มันอยู่บนฐานความคิดที่ว่าสถาบันหลักของชาติหรือสถาบันการเมืองใดๆ ก็ตาม จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่มีสถาบันใดที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยการกดปราบบังคับ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะเตือนให้สติกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสังคมไทย กับผู้มีอำนาจทุกฝ่าย”
.
“ผมอยากเชิญชวนสมาชิกรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในที่ประชุมแห่งนี้ ลงมติให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุผลไม่ใช่เพราะทุกท่านรักพิธา ไม่ใช่เพราะทุกท่านเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลไปเสียทุกเรื่อง แต่เพราะจะเป็นการลงมติเพื่อคืนความปกติให้แก่ระบบรัฐสภาของไทย เป็นการลงมติเพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชน เป็นการลงมติที่ให้โอกาสครั้งใหม่แก่สังคมไทย และเป็นการลงมติเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบแห่งยุคสมัยร่วมกันให้ได้”
ภารกิจสำคัญของ “ชัยธวัช” หลังจากนี้ คือนำ-ประคองพรรคก้าวไกลฝ่ากลไกของชนชั้นนำสู่การเลือกตั้งในปี 2570 โดยที่ระหว่างทางย่อมไม่ง่ายอย่างใจ และพรรคก้าวไกลอาจต้องเตรียมผู้นำทางการเมืองไว้หลายชุด รองรับแรงกระแทกทั้งหมดนี้