ย้อนตำนานประธานสภาฯ ประมุขของใคร?

กระแสความร้อนแรงของการเมืองหลังวันที่ 14 พ.ค. หลังเสร็จศึกเลือกตั้ง แม้พลพรรคฝ่ายประชาธิปไตยคว้าชัยเสียงข้างมากมาถล่มทลาย แต่ไม่วายคะแนนพรรคอันดับ 1 และ 2 ต่างกันอยู่เพียงแค่ 10 คะแนน กลุ่มโหวตเตอร์ Netizen ต่างออกมาเรียกร้องปลอบใจพรรคของตนเองสู้กันดุเดือดบนสนามรบเสมือนจริง จนมีข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้บรรดาแกนนำพรรคต้องออกมาตอบ ออกมาเตือน และดูเหมือนบางครั้งแกนนำพรรคก็เอากับเขาด้วยซะงั้น ออกมาผสมโรงชุลมุนชุลเกกันไป

ต่อประเด็นใหม่ในขณะนี้ 23 พ.ค. ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า “…พรรคก้าวไกลยอมลด ยอมถอย มาขนาดนี้แล้ว จะต้องยอมขนาดไหนเพื่อให้พรรคอื่นพอใจและจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคอื่น”
.
หากย้อนดูประธานสภาฯ ตั้งแต่เลือกตั้งปี 35 เป็นต้นมา เราก็จะพบคำตอบว่าประธานสภาฯ นั้นเป็นของพรรคแกนนำรัฐบาล เว้นแต่ช่วงการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่ปกติ กล่าวคือมีการผสมกันข้ามขั้วเพื่อคงเสถียรภาพรัฐบาลไว้

เลือกตั้ง 2535/2 ประชาธิปัตย์คว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 79 ที่นั่ง ส่ง “มารุต บุนนาค” ส.ส.กทม.เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์นั่งประธานสภาฯ โดยมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

เลือกตั้ง 2538 ชาติไทยคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 92 ที่นั่ง ส่ง “บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ” ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 1 พรรคชาติไทยนั่งประธานสภาฯ โดยมีบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี


เลือกตั้ง 2539 ความหวังใหม่คว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 125 ที่นั่ง ส่ง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.ยะลา เขต 1 พรรคความหวังใหม่นั่งประธานสภาฯ โดยมีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้นหลังการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2540 แม้จะมีการสลับขั้วโดยชวน หลีกภัย จากประชาธิปัตย์พรรคอันดับ 2 ในฐานะเก้าอี้ 123 ที่นั่ง ขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำแต่ยังคงประธานสภาฯ ไว้เป็นคนจากพรรคความหวังใหม่ด้วยเหตุผลในจำนวนเสียงที่ปริ่มกัน และสุดท้ายในปี 43 วันมูหะมัดนอร์ มะทา ตัดสินใจลาออกพรรคประชาธิปัตย์จึงส่ง “พิชัย รัตตกุล” ส.ส.กทม.เขต 6 นั่งประธานสภาฯแทน

เลือกตั้ง 2544 ไทยรักไทยคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 248 ที่นั่ง ส่ง “อุทัย พิมพ์ใจชน” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยนั่งประธานสภาฯ โดยมีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เลือกตั้ง 2548 ไทยรักไทยคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว 377 ที่นั่ง ส่ง “โภคิน พลกุล” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยนั่งประธานสภาฯ โดยมีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เลือกตั้ง 2550 พลังประชาชนคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 233 ที่นั่ง ส่ง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชนนั่งประธานสภาฯ โดยมีสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นยงยุทธ ออกจากตำแหน่งเนื่องจาก กกต.สั่งให้ใบแดงจากการทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย

พลังประชาชนจึงส่ง “ชัย ชิดชอบ” ส.ส.สัดส่วนของพรรคขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แทน ต่อมาหลังพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคด้วยเหตุผลการทุจริตการเลือกตั้ง

เหตุการณ์ทางการเมืองพลิกขั้ว ส.ส.กลุ่มเนวิน พรรคพลังประชาชนเดิม จัดตั้งพรรคใหม่ ชื่อว่า ภูมิใจไทย มาสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคอันดับ 2 ซึ่งมีจำนวนเก้าอี้ 164 ที่นั่งมาเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลแทน โดยครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ให้ตำแหน่งประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ทั้งสอง คงเดิมทั้งหมด ไม่มีเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผลจากคะแนนที่นั่งและข้อต่อรองทางการเมืองระหว่างพรรคแกนนำและพรรคภูมิใจไทย

เลือกตั้ง 2554 เพื่อไทยคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 265 ที่นั่งส่ง “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ส.ส. เขต 6 ขอนแก่นพรรคเพื่อไทยนั่งประธานสภาฯ โดยมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เลือกตั้ง 2562 พลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค จากพรรคแกนนำ 116 ที่นั่ง ส่ง “ชวน หลีกภัย” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์นั่งประธานสภาฯ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าพลิกความคาดหมายเพราะพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นถือเป็นพรรคอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาลได้ที่นั่งเพียง 53 ที่นั่งเริ่มต้น แต่พลังประชารัฐกลับไม่ส่ง สุชาติ ตันเจริญ ตามคาดลงแข่งด้วยเหตุผลการร่วมรัฐบาลและจำนวนส.ส. ในสภาฯ ประกอบกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยได้หารือนอกรอบว่าทั้งสองพรรคขนาดกลางจะจับมือไปด้วยกัน ไปในทิศทางเดียวกัน คือไปด้วยกัน ถ้าไม่ร่วมก็ไม่ร่วมด้วยกัน ด้วยเสียง 103 ที่นั่งในขณะนั้นของพรรคทั้งสอง

เลือกตั้ง 66 ข่าวกระสานซ่านเซ็น ถึงตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภาฯ อีกครั้ง พรรคแกนนำจะได้ตำแหน่งหรือพรรคอันดับ 2 จะได้ตำแหน่ง แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะรุ่นใหม่รุ่นเก๋า ถ้าได้รับเลือกต้องทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ และประมุขของตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง หาใช่การทำงานเพื่อประมุขของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะประชาชนจับตามองอยู่ตลอดการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

และที่สำคัญก่อนจะไปถึงขั้นนั้นต้องคอยเตือนบรรดาว่าที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก่อนว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกอย่าฆ่ากันเอง!!