ส่องความเป็นไปได้ของกิจการธนาคารยุคใหม่ ในกิจการไปรษณีย์ดั้งเดิม
ภาพจำของ “บุรุษไปรษณีย์” ในยุคปัจจุบัน ที่กลายเป็นผู้จัดส่งพัสดุใกล้บ้านที่ “รู้ใจ” คนในท้องถิ่นนั้นๆ กว่าใคร ไม่ว่าตัวคนจะอยู่ไหน จ่าหน้ากล่องพัสดุไม่ตรง บุรุษไปรษณีย์ รู้ที่ส่งหมด กลายเป็นภาพแทน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในปัจจุบัน
ด้วยซองจดหมาย ไปรษณียภัณฑ์ ที่ระเหยไปตามกาลเวลา เหลือแต่หน่วยงานรัฐที่ต้องส่งหนังสือราชการถึงประชาชนและหน่วยงานภายนอกเท่านั้น สำหรับคนทั่วไปการส่งจดหมาย จบลงแล้ว
ในขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย ที่โตขึ้นจนมีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ในปัจจุบัน ภาพของบุรุษไปรษณีย์ส่งอย่างรู้ใจกับความนิยมซื้อของออนไลน์ บนอีคอมเมิร์ซ จึงสอดคล้องกับผลดำเนินการที่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ของ ปณท มีรายได้ถึง 40-45% ของธุรกิจทั้งหมดของ ปณท ซึ่งมีรายได้นับหมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปีมานี้
ในบรรดาธุรกิจทั้งหมดของ ปณท มีธุรกิจหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นพร้อมๆ กับการจัดส่งจดหมายเมื่อ 140 ปีมาแล้ว คือ “ธุรกิจการเงิน” ไม่ว่าจะเป็นอากรแสตมป์ การรับส่งตั๋วแลกเงินหรือ ธนาณัติ จนถึงปัจจุบัน คือ การให้บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ CoD (Cash on Delivery) สำหรับพ่อค้าแม่ค้า SMEs ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ
ธุรกิจค้าปลีกและการเงิน สร้างรายได้อยู่ที่ 5% ของรายได้รวม นับว่าเล็กมากเมื่อเทียบการขนส่งพัสดุที่ 40-45% ส่งจดหมายไปรษณียภัณฑ์ราว 30-35% และขนส่งระหว่างประเทศ อีกราว 12-15%
แต่บริการนี้เป็นกุญแจสำคัญสำหรับโลกการเงินยุคดิจิทัลสมัยใหม่ที่ข้อมูลพฤติกรรมมนุษย์สำคัญกว่ายอดเงินเดินในบัญชี
ในปี 2565 ปณท ได้ร่วมมือกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) โดย ปณท จะแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประกอบการที่จัดส่งสินค้ากับ ปณท ขณะที่ SME Bank จะให้วงเงินตามข้อมูลคะแนนเครดิตที่ผู้ประกอบการมี
ปณท จัดส่งสินค้ามากกว่าพันล้านชิ้นต่อปี รายชื่อ ความถี่ และมูลค่าจัดส่ง เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการใช้คำนวณสภาพคล่อง และโอกาสในการชำระสินเชื่อ ขณะที่ธนาคารให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจได้ยาก เพราะ SME ขนาดเล็ก – กลาง ไม่นิยมเก็บในธนาคารดั้งเดิม ตั้งใช้เงินหมุนเวียน วันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์
เหล่านี้ ทำให้สถาบันการเงินพยายามปลดแอกตัวเอง ด้วยใบอนุญาต Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา เพื่อถ่ายโอนเงินทุนมหาศาลมาหาลูกค้ารายใหม่ๆ ที่มี “ข้อมูล” อยู่นอกระบบการเงิน
เช่นเดียวกับ ธุรกิจที่มีข้อมูลนอกระบบการเงินมากแต่ “ไม่มีเงินทุน” จากธนาคารก็อยากหาโอกาสนี้ขยายฐานสินเชื่อและขายสินค้าให้มากขึ้น
ข้อมูลของ ปณท จึงจัดเป็นของมีค่ายิ่งยวด ซึ่งรอคอยให้มีแหล่งทุนเข้าเชื่อมต่อ เพราะ ปณท ไม่มีแหล่งทุนและธนาคารในตัวเองเช่นต่างประเทศ ที่ กิจการไปรษณีย์สามารถให้บริการทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการรับฝากเงิน จ่ายดอกเบี้ย ส่ง ลงทุน ให้สินเชื่อได้ในตัวเอง
ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน มี Postal Bank หรือ ธนาคารการไปรษณีย์ของตน ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี เช่นเดียวกับ อังกฤษ ประเทศต้นแบบของกิจการไปรษณีย์ ก็มี Post office Money ดำเนินการโดย บริษัท ไปรษณีย์แห่งอังกฤษ ให้บริการบัตรเครดิต บัญชีกระแสรายวัน ผลิตภัณฑ์ประกันภัย การจำนอง และสินเชื่อส่วนบุคคล แก่ลูกค้าในสหราชอาณาจักร
โดยให้บริการ ผ่านสาขาที่ทำการไปรษณีย์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่
เหตุที่ กิจการไปรษณีย์ เริ่มต้นพร้อมๆ กับธนาคาร เพราะไปรษณีย์ คือ การวาง “โครงข่าย” การสื่อสารและการคมนาคม เป็นหัวหอกในการบังคับใช้ “ระบบแลกเปลี่ยนเงิน” มาตรฐานเดียวกันทั่วอาณาจักร โครงข่ายเหล่านี้เมื่อเข้าถึงท้องถิ่นต่างๆ ทุกหัวระแหงก็นำระบบแลกเปลี่ยนทางไกลเข้าไปด้วย
กระดาษธรรมดาที่ประทับตราไปรษณีย์ หรือ ธนาณัติ สร้างความเชื่อมั่นให้คนส่งเงินข้ามดินแดน ด้วยการใช้คนเดินสาร หรือบุรุษไปรษณีย์ ไปดึงคนจากชายขอบสุดของดินแดนเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบตั๋วจากส่วนกลาง
เงินจริงๆ จากต้นทางและปลายทาง จึงถูกเก็บไว้ที่ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ทั่วดินแดน และหากย้อนไปร้อยปีก่อน ที่ทำการไปรษณีย์จึงแปรสภาพเป็นธนาคารย่อมๆ
ประเทศไทยเอง เริ่มต้นกิจการไปรษณีย์ เมื่อ 140 ปีก่อน และในยุคบุกเบิกนั้น 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญในการสร้างระบบแลกเปลี่ยนเงินของชาติ อยู่รวมกันภายใต้สังกัด กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ได้แก่
กิจการไปรษณีย์, กิจการโทรศัพท์และโทรเลข และกิจการการคลัง หรือ ธนาคาร
กิจการโทรศัพท์ เดิมอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่โอนมาให้ กรมไปรษณีย์ ในปี 2429 และเห็นว่าดำเนินการลักษณะเดียวกันคือการวางโครงข่ายสายสื่อสาร คนส่งสาร และการคมนาคม ไปกับรางรถไฟ เรือ ถนน จึงรวมกันภายใต้ชื่อ “กรมไปรษณีย์โทรเลข”
ต่อมา เมื่อการรับฝากเงินเติบโตขึ้น ในปี พ.ศ. 2472 ได้รับโอนคลังออมสินจากกรมพระคลังมหาสมบัติ มาดำเนินการรับฝากเงินจากประชาชน
กิจการไปรษณีย์ไทย จึงมี “ธนาคาร” ในตัว
แต่ไม่นาน ได้แยกคลังออมสินออกไปจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในชื่อ “ธนาคารออมสิน” ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490 และโอนกิจการโทรศัพท์กรุงเทพฯ และธนบุรี ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2497 ต่อมา กลายเป็น กสท. โทรคมนาคม และเป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน
ในปัจจุบันที่ กระแส “ธนาคารไร้สาขา” กำลังโหมกระพือ แต่คนที่เข้าไม่ถึงสาขาธนาคารทางกายภาพอยู่แล้วยิ่งยากที่จะเข้าถึง
หากเกิดปัญหาในการใช้งานเรื่องธนาคารดิจิทัล หรือ ธนาคารไร้สาขา จะพูดคุยกับแชตบอตหรือคอลเซ็นเตอร์จะยิ่งวุ่นวายยุ่งยาก และเมื่อต้องติดต่อสาขากลับไม่มีสาขา
ปณท ซึ่งมีสาขาเป็น จุดรับพัสดุกว่า 50,000 จุดทั่วประเทศ และที่ทำการ ปณ. อีกทุกอำเภอ และบุรุษไปรษณีย์กว่า 2.5 หมื่นคน ที่เข้าถึงและ “รู้ใจ” ประชาชนทุกพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้าน กลางทุ่งนา เขาสูง และเกาะแก่ง
“โครงข่ายที่มีชีวิต” เหล่านี้ สามารถช่วยดึงคนในระบบการเงินกายภาพ เข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง และสามารถแปลงพฤติกรรมการรับส่งเงินที่เกิดขึ้นเป็น “ข้อมูล” ที่มีค่า สำหรับระบบธนาคารยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวเลขยอดเงินเดินสะพัดอีกต่อไป