การดิ้นรนของ “ไปรษณีย์ไทย”เปิดหน้าชนแพลตฟอร์มต่างชาติแก้เกมแข่งขันไม่เป็นธรรม
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ยิ้มแก้มปริ เมื่อผลประกอบการปี 2566 ออกมาพบว่ามีรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท และมีกำไร 78 ล้านบาท
แม้จะถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า แต่ก็สะท้อนการดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางสงครามราคาและเงินทุนขนาดยักษ์จากต่างประเทศที่อัดเข้ามาในระบบขนส่งเอกชน และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในช่วง 3-4 ปีมานี้ได้อย่างดี เพราะ ปณท. ขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ปี 2564 ราว 1.7 พันล้านบาท และปี 2565 ขาดทุนอีก 3 พันล้านบาท
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท. กล่าวถึงการแข่งขันที่ดุเดือดตลอดช่วง 2 ปีที่เขารับตำแหน่งมาเสมอว่า “สงครามราคา” ไม่ดีต่ออุตสาหกรรม เม็ดเงินมหาศาล Subsidy ข้ามบริการจาดโลจิสติกส์ไปอีคอมเมิร์ซ และ “เลือก” เส้นทางที่มีรายได้และกำไร
ขณะที่ ปณท. ต้อง “จ่าย” เพื่อคงเส้นทางการขนส่งให้เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศปีละกว่า 1.2 พันล้านบาทและปี 2566 ที่ผ่านมาอีก 1.4 พันล้านบาท
และในช่วงหลังโควิดมานี้ “แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” ซึ่งเป็นแหล่งต้นของคำสั่งซื้อ ได้มีการกีดกันผู้ให้บริการจัดส่ง และหันมาทำระบบขนส่งโลจิสติกส์เอง
ส่วนในพื้นที่ใดที่ส่งแล้วไม่คุ้มหรือไม่มีปริมาณสินค้ามากพอที่จะจัดระวางรถไปได้ ก็ให้ “ไปรษณีย์ไทย” ส่งแทน
“ดนันท์” กล่าวว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติล็อกสเป็กผู้ให้บริการขนส่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน หรือสัญชาติเดียวกัน แต่ตอนนี้ ปณท. ได้เจรจาเพื่อเข้าไปเชื่อมต่อแล้วในแพลตฟอร์มที่เป็น “E-Marketplace” คงเหลือแต่ แพลตฟอร์มที่เป็น Social หรือ Live Commerce รายใหญ่ที่เติบโตอย่างมากจากความนิยมวิดีโอสั้น และสินค้าจากแพลตฟอร์มนี้กำลังกินส่วนแบ่งพัสดุในตลาด “แต่เขาไม่ให้เราเข้าไปให้บริการ”
การล็อกสเป็ก และการทำบริษัทขนส่งเอง ทำให้เกิดการถัวเฉลี่ยรายได้จากบริการอื่น กดราคาส่ง-ราคาสินค้าในแพลตฟอร์มตน ถือเป็นการ Subsidy ข้ามบริการโยกกระเป๋าซ้ายใส่กระเป๋าขวา ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมระส่ำระสาย
การที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติเริ่มเข้ามาตั้งสายการขนส่งเอง ยังสอดคล้องกับการที่สินค้าจีนปลอดภาษีทะลักเข้าสู่ประเทศไทยด้วย เพราะเดิมการจัดส่งสินค้าเริ่มต้นจากช่องทางออนไลน์ แต่ปัจจุบันมีการตั้งโกดัง-เอาท์เล็ต ของตนเพื่อรองรับสินค้าที่จะหลั่งไหลเข้ามาจาก Free-trade Zone
การสั่งชิ้นงานมาได้ทั้งจากออนไลน์และออฟไลน์ แต่แน่นอนว่ามีการกีดกันผู้จัดส่ง
บริษัทโลจิสติกส์ที่ทำโครงข่ายขนส่งอย่างเดียวจึงเริ่มอยู่ได้ยาก ถ้าไม่มีชิ้นงานเป็นของตน ตัวอย่างที่ชัด คือ Kerry Express ที่เคยเป็นดาวรุ่ง แต่ล่าสุดขาดทุนต่อเนื่องจนมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแม่
“ดนันท์” กล่าวเสริมว่า เพราะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ “ไร้องค์กรกำกับดูแล” ไม่เหมือนโทรคมนาคมที่ยังมี กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งหลายเรื่อง แม้เอกชนไม่ทำ ก็ต้องจ่ายเพื่อช่วยอุ้มระบบ แต่ตอนนี้ ปณท. จ่ายคนเดียวปีละพันกว่าล้าน
“แต่เราก็ไม่อาจร้องแรกแหกกระเชิง เพื่อขอความช่วยเหลือได้ เราต้องทำให้เห็นก่อนว่า ปณท. ดีจริง เรามีการเพิ่มจุดเข้าถึงสินค้ากว่า 300,000 จุดทั่วประเทศ เพิ่มหน่วยติดตามและดูแลลูกค้ากว่า 4 เท่า และให้มีการติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิดให้การร้องเรียนเป็นศูนย์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี ฟื้นความเชื่อมั่น รวมถึงการจัดการระบบปฏิบัติการนำจ่ายใหม่ มีประสิทธิภาพขึ้นลดต้นทุนลง 35% และมีการจัดส่งที่รวดเร็วที่สุดในผู้ให้บริการจัดส่ง”
“บริษัทขนส่งต่างชาติ เขามาจากการเป็นบริษัทเทคโนโลยี-อีคอมเมิร์ซ เขามีชิ้นงานในมือ เราเกิดจากโลจิสติกส์ที่ต้องการจะมีชิ้นงานจัดส่งในมือเหมือนกัน เราจึงต้องทำรีเทล-อีคอมเมิร์ซ ผ่านแพลตฟอร์ม Thailand Post Mart ที่เป็นตัวเชื่อมสินค้าเอสเอ็มอีไทยไปทั่วประเทศ และยังทำสินค้าตราไปรษณีย์เอง ทั้งข้าวสาร น้ำดื่ม และกาแฟ เพื่อสู้”
“เรื่องการแข่งขัน และพัฒนาบริการเราไม่กลัว ที่เราต้องออกมาพูดเรื่องที่แพลตฟอร์มต่างชาติ ล็อกสเป็ก และ กีดกันผู้ให้บริการจัดส่งนั้น เราไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษในการแข่งขัน เราขอแค่ให้มีการแข่งขันที่เท่าเทียม ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เลือกผู้ให้บริการที่เขาคิดว่าดีที่สุดสำหรับเขาได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากสะท้อน”