ระทึก!คดีสกัด ‘ไตรรัตน์’ นั่งเลขาธิการ กสทช.เบื้องลึกเกมชิงผลประโยชน์โทรคมนาคมชาติ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำพิพากษา 8 เมษายนนี้ ปิดฉากคดี “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช.” ที่ฟ้องร้องบอร์ด กสทช. 4 คน กลั่นแกล้งสกัดไม่ให้นั่งตำแหน่งเลขาธิการกสทช. ทั้งที่คุณสมบัติครบ ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย ตีแผ่กลุ่มทุนผลประโยชน์และเอ็นจีโอส่อบิดกฎหมาย หวังครอบงำสมบัติสาธารณะของชาติ สร้างภาพลักษณ์คนดีสู่สังคม โดยไม่สนใจระบบนิติรัฐ

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีดำ 155/2566 ที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช. ฟ้องร้อง กสทช. 4 คน ว่าร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เจตนาไม่ให้นายไตรรัตน์ ลงสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.คนใหม่ได้ ในวันที่ 8 เมษายน 2568 นี้

สำหรับ กรรมการ กสทช. จำนวน 4 คน ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 7 กำหนดให้ กรรมการกสทช. ต้องไม่เป็นบุคคลต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิด

แหล่งข่าวที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการเมือง ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจะบิดกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเบื้องหลัง ไม่ต่างกับตอนก่อนปฏิวัติในปี 2549 โดยกลุ่มซ้ายจัด และ NGO กลุ่มเดิมๆ ร่วมกับกลุ่มที่อ้างตนเองเป็นขวาจัด แต่ทำเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ให้พรรคพวกของตนเอง และหวงอำนาจที่จะเข้ายึดครองสมบัติของสาธารณะ โดยไม่นึกถึงระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม

”จะเห็นได้ว่ามีความพยายามกล่าวหา กดดัน และ พยายามจะบิดให้สังคมเชื่อว่าตนเป็นคนดี โดยเบื้องหลัง คือการเอาผลประโยชน์ไปให้ผู้มีพระคุณ หรือจะหลอกผู้มีพระคุณก็ไม่ทราบได้ เพราะประวัติศาสตร์บอกเราไว้ว่าความวุ่นวายในประเทศตลอด 18 ปี ที่ผ่านมาก็เพราะเหตุแบบนี้“

แหล่งข่าวยังกล่าวเสริมอีกว่า “ความถูกต้องคือต้องยึดหลักยุติธรรม หากหวังดีต่อชาติจริง ต้องยึดหลักกฎหมาย ถึงแม้ไม่ถูกใจแต่ต้องยึดความถูกต้อง หากจะใจร้อนหรือเอาแต่ใจ ประเทศก็วุ่นวายแบบทุกวันนี้ หากจะทำเพื่อชาติและประชาชนต้องทำอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ ทุกคนตื่นมาดูกระจกย่อมรู้ดีว่าตัวเองทำอะไร เราหลอกสังคมได้ แต่เราหลอกจิตสำนึกตัวเองไม่ได้ จะแก้ไขปัญหาสังคมไทย ต้องแก้ไปถึงจุดนี้ก่อน บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีสถาบันหลักของชาติ หากสถาบันหลักสั่นคลอนย่อมไม่เป็นผลดีกับ 72 ล้านคนในประเทศนี้“

ย้อนรอยเส้นทางคดีไตรรัตน์เรียกร้องความเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีล่าสุดที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช. ฟ้องร้องต่อ กสทช. 4 คน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 ท่ามกลางกระแสความไม่ลงรอยในบอร์ดกสทช. ทำให้เสียงข้างมากทั้ง 4 คนจับมือกันแน่น และสามารถกำหนดเสียงโหวตได้ส่วนใหญ่

17 มีนาคม 2566 : กสทช.ประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติเป็นเลขาธิการกสทช. ซึ่งนายไตรรัตน์ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีสิทธิสมัครชิงตำแหน่ง

9 มิถุนายน 2566 : บอร์ดกสทช. 4 คน ร่วมกันลงมติเพื่อให้ นายไตรรัตน์ ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ โดยอ้างว่า จากกรณีสนับสนุนค่าใช้จ่ายถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

21 มิถุนายน 2566 : นายไตรรัตน์ นั่งรักษาการเลขาธิการกสทช.ต่อไป ส่งผล นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ ซึ่งได้รับการสนับสนุน ไม่สามารถขึ้นมารับตำแหน่งได้

27 มิถุนายน 2566 : ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเป็น เลขาธิการกสทช. คนใหม่

7 กรกฎาคม 2566 : ประกาศกำหนดการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ คัดเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่

20 กรกฎาคม 2566 : ผู้สมัครชิง เลขาธิการคนใหม่ เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์รวม 8 ราย รวมถึงนายไตรรัตน์ โดยมี ประธานกสทช. และ กสทช.ทุกคนรับฟังและสัมภาษณ์ กระทั่งการคัดเลือกแล้วเสร็จ

26 กรกฎาคม 2566 : กสทช. 4 คน ทำหนังสือถึงประธานกสทช. ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการคนใหม่

11 กันยายน 2566 : นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้อง 4 กสทช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

31 พฤษภาคม 2567 : ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีดำที่ อท 155/2566 ตามที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ยื่นฟ้อง 4 กสทช. จงใจร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อไม่ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.

8 เมษายน 2568 : ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กำหนดให้รับฟังคำพิพากษา

ก่อนหน้านี้ อีกหนึ่งคดีที่คล้ายกัน คือเมื่อวันที่ 6 กพ. 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา กรณีบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้อง ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง รามสูต ว่ามีเจตนาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลอาญาฯ ตัดสินให้ ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง ผิดมาตรา 157 ต้องจำคุก 2 ปี รวมถึงพบเอกสารมติการประชุมไม่ตรงข้อเท็จจริง และการใช้อำนาจกดดันสั่งการสำนักงานกสทช. ออกหนังสือทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่ง เข้าใจผิดเชื่อว่าบริษัทฯกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

แหล่งข่าว กสทช. ย้ำว่า การตัดสินคดีในวันที่ 8 เมษายน 2568 นี้ ย่อมจะส่งผลต่อระบบคุณธรรมและจริยธรรมของกสทช. หลังจากก่อนหน้านี้ มีคำพิพากษาในคดี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงบรรทัดฐานในการทำงานของสำนักงานกสทช. ที่ต้องยึดมั่นระเบียบกฎหมายให้โปร่งใส มีศักดิ์ศรี และไม่เป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ใด รวมถึงกลุ่มธุรกิจสื่อสารและเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา

“ที่ผ่านมามีการนำเอกสารหลักฐาน พยานฝ่ายต่างๆ ชี้แจงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้มากที่สุด และป้องกันกระบวนการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานและผู้บริหารสำนักงาน กสทช. ซึ่งทุกคนกำลังจับตาคดีนี้อยู่ว่าจะลงเอยด้วยความยุติธรรมอย่างไรต่อไป” แหล่งข่าว กสทช. กล่าวทิ้งท้าย