ทบทวนความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในวันที่โทรคมนาคม “อิ่มตัว”

มนต์เสน่ห์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเริ่มเจือจางลง การแข่งขันที่เน้นโปรโมชั่นค่าโทร ส่งข้อความ และวัดกันด้วยคุณภาพและความครอบคลุมพื้นที่ของสัญญาณมือถือ จางหายไปพร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มุ่งเน้นการใช้งานดาต้าเพื่อถ่ายโอนข้อมูลบนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก

ในอดีตที่การลงทุนขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง บริษัทโทรคมนาคมพยายามเข้าหาลูกค้า ด้วยการขยายโครงข่ายเสาสัญญาณ รวมถึงแข่งขันโปรโมชั่นอย่างดุเดือด จนเหลือ 3 รายใหญ่ AIS True Dtac และที่คนหลงลืมไปแล้วคือ NT หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ

ช่วงบุกเบิกบริการ เอกชนหลีกเลี่ยงขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลทุรกันดารย่อมเป็นการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะเขาจะไม่มีลูกค้าแน่ ทำให้หลักการสนับสนุน “บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” หรือ USO (Universal Service Obligation) มีบทบาท

นั่นเพราะจะมี “คนกลาง” เข้ามารวบรวมเงินทุนจากเอกชนไปบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศโทรคมนาคมของประเทศ อันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานและประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสาร

USO จึงเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ปัจจุบันกลายเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งตามแผนแม่บทที่ผ่านมามีการตั้งเป้าว่าจะต้องสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุม 95% ของประเทศ

คำถามคือ ในวันนี้ เป้าหมายนั้นยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะภูมิทัศน์โครงข่ายโทรคมนาคมเปลี่ยนไปอย่างมาก

  • ความอิ่มตัวของตลาด

รายงาน Digital 2024: Thailand ของ Data Reportal ระบุว่าประชากรไทยกว่า 88% หรือราว 63 ล้านคน เข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญกว่า 98% ของจำนวนนั้นเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบน “โทรศัพท์เคลื่อนที่” ซึ่งประเทศไทยมีใช้งานอยู่จริงราว 120.92 ล้านเลขหมาย

ขณะที่ความครอบคลุมของสัญญาณ 5G ณ สิ้นปี 2565 มีความครอบคลุมของโครงข่าย 5G ร้อยละ 85.63 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย เรียกได้ว่า ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศแล้ว

สิ่งนี้เป็นดาบสองคม คือ ด้านดีสะท้อนความสามารถในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ด้วยอินเทอร์เน็ต

อีกด้านทำให้เกิดจุด “อิ่มตัว” ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพราะแทบไม่เหลือลูกค้าให้ทำตลาดแล้ว

ความอิ่มตัวนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีแนวโน้มของการควบรวมกิจการโทรคมนาคม แล้วผันตัวไปเสริมบริการอื่นมากขึ้น หรือหันไปทุ่มเทกลับโครงสร้างเทคโนโลยีโทรคมนาคม-ดิจิทัลชั้นที่สองและสาม คือ การสร้างแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เช่น แอปโทร-ส่งข้อความ โซเชียลมีเดีย แอปดูทีวี รายการบันเทิง และอื่นๆ

ค่ายมือถือจึงมุ่งผันตัวเองไปเป็นบริษัทเทคโนโลยี และเพิ่มมูลค่าจากบริการชั้นสองชั้นสามเหล่านี้แล้วหลอมรวมบริการเพื่อเสนอขายคู่กัน เช่น เสนอขายแพ็กเกจมือถือพร้อมอินเทอร์เน็ตบ้าน หรือพร้อมสิทธิประโยชน์ในการดูหนังผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เป็นต้น

ไม่มีทางที่เราจะเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ เพราะไม่มีใครจะใช้เวลาอีก 20-30 ปีเพื่อเริ่มวางโครงข่ายของตัวเองใหม่ แล้วแย่งลูกค้าจากตลาดที่อิ่มตัวแล้ว และยังถูกล่ามด้วยบริการพ่วงเหลือคณา

การหลอมรวมเทคโนโลยีทำให้ผู้ให้บริการรายเล็กที่มีแค่แพ็กเกจสัญญาณ “อยู่ไม่ได้” และเมื่อมีการขายพ่วงบริการ ทำให้การใช้งานดาต้า และราคามาตรฐานคำนวณจริงได้ยาก จนหลายคนรู้สึกว่า ค่ามือถือแพงเกินไป

  • โทรคมนาคม “ทั่วถึง” กลับตาลปัตร

“สมภพ ภูวิกรัยพงษ์” กรรมการ กสทช. กล่าวว่า แม้ภารกิจของ USO Net ที่ต้องขยายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานไปยังพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารเพื่อให้คนด้อยโอกาสเข้าถึงได้ยังคงต้องทำต่อไป เพราะยังมีช่องว่างอีก แต่สิ่งที่เพิ่งค้นพบและอยากจะเน้นคือ “ชุมชนแออัด” ในกรุงเทพฯ เพราะกลายเป็นว่าคนจำนวนมากกลางมหานครแห่งนี้ ไม่มีศักยภาพที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในราคาที่ถูกได้ เรียกว่าด้อยโอกาสด้านรายได้

กรุงเทพมหานครมีสัญญาณ 5G ครอบคลุม 99% ยกเว้นบนดาดฟ้าตึกสูงๆ เท่านั้น

“สมภพ” กล่าวด้วยว่า กสทช. ก็มีการพูดคุยกันเรื่องของกลุ่มเป้าหมายของ USO เพราะคำว่าคนด้อยโอกาสไม่ใช่แค่คนพิการหรือคนพื้นที่ห่างไกล ยังมีผู้สูงอายุที่ต้องพัฒนาทักษะ ผู้ดูแลผู้สูงอายุอย่าง อสม. ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงคนในเมืองที่ต้องเติมเงินรายครั้งเพื่อให้ได้ใช้อินเทอร์เน็ต

หากพิจารณาร่วมกับแนวโน้มการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ต้องเร่งนำบริการภาครัฐเข้าสู่ดิจิทัล ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ เริ่มจะถ่ายโอนระบบสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิเข้าสู่ระบบดิจิทัลแล้ว

อย่าง 30 บาทรักษาทุกที่จะพัฒนาต่อเนื่องด้วยโทรเวชกรรม และโทรเภสัชกรรม ที่ทำให้คนไทยที่มีมือถือและยืนยันดิจิทัลไอดีแล้ว สามารถเข้าหาหมอ หรือขอรับยาผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลของตนได้จากทุกที่ด้วย จึงต้องคิดต่อไปว่า “คนด้อยโอกาส” ด้านรายได้ จะต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตใดเข้ารับบริการเหล่านี้จากรัฐ

จะต้องขี่มอเตอร์ไซค์ หรือเดินเท้าไปที่ศูนย์ USO Net ที่กระจายอยู่ที่ต่างๆ หรือ?

  • ปรับปรุงนิยาม ปลดล็อกการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ ด้วยโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วถึง

เมื่อไม่กี่วันก่อน “ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมของ ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (แผน USO) ฉบับที่ ๔ ซึ่งขยายเวลาจากแผนระยะ 1 ปีเป็น 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568) ในกรอบวงเงิน 24,000 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

สาระสำคัญส่วนหนึ่งคือการปรับปรุง “นิยามใหม่” ของ “บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน”

จากเดิม “บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน” หมายความว่า บริการโทรศัพท์และบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ รวมถึง สนับสนุนการจัดให้มีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือส่วนประกอบอื่น ตลอดจนการจัดให้มีการส่งเสริมและเพิ่มทักษะความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างทั่วถึงภายใต้แนวทางการขับเคลื่อน แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม

โดยแนวทางแรก เปลี่ยนไปใช้ “บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน” หมายความว่า บริการโทรศัพท์ บริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรคมนาคมอื่นใดที่ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม รวมถึงระบบและอุปกรณ์อื่นใดที่เป็นส่วนประกอบเพื่อให้เกิดบริการโทรคมนาคม ซึ่งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทําให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล หน่วยงานด้านความมั่นคงหรือหน่วยงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกลุ่มเป้าหมายอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด สามารถเข้าถึงโครงข่าย โทรคมนาคมของประเทศ

เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้รับบริการด้านสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มทักษะความรู้ แก่กลุ่มเป้าหมายให้เข้าถึงบริการโทรคมนาคมตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม”

แนวทางที่สอง คือ “บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน” หมายความว่า บริการโทรศัพท์ บริการอินเทอร์เน็ต และ บริการโทรคมนาคมอื่นใดที่ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม…”

ข้อความทั้งสองแนวทาง สะท้อนว่ากำลังมีความพยายามปรับนิยามให้รองรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ตอนนี้แค่คำว่าการเข้าถึง “โทรคมนาคม” ไม่เพียงพอแล้ว ที่จะโอบอุ้มความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเทคโนโลยี “ดิจิทัล-โทรคมนาคม” ในโลกยุคปัจจุบัน