บทบาทของดอน ปรมัตถ์วินัย ในสมัยเป็นข้าราชการพลเรือนกับข้าราชการการเมืองคงจะผิดแผก และผิดคาดกับความหวังและตั้งตารอของใครหลายๆ คน
คำชื่นชมที่เคยมีค่อยๆ มลายหายไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลานับตั้งแต่ลูกหม้อคนนี้ขึ้นหม้อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
การบริหารที่มุ่งแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลคสช. มากกว่าการต่างประเทศทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลายครั้งต่อหลายครั้ง
อันจะเห็นได้จากคราวที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ มาปาฐกถาที่จุฬาฯ แล้วตำหนิกระบวนการทางการเมืองไทย โดยย้ำข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและจัดการเลือกตั้งโดยเร็วในเดือน ม.ค. 2558
‘ดอน’ ตอกกลับว่า อเมริกาแทรกแซงกิจการภายในของไทย และย้ำอีกครั้งว่าการพูดเช่นนั้นเป็นการก่อให้เกิด “แผลในใจ” สำหรับคนไทยจำนวนมาก จุดยืนรัฐมนตรีต่างประเทศ ดังกล่าวทำให้สถานะของประเทศไทยค่อยๆ ถอยบทบาทไปในโลกเสรี
หลายครั้งต่อหลายครั้งที่การบริหารงานเป็นไปในทิศทางเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีของรัฐบาลคสช. การออกมาแก้ต่าง การจับกุมตัวนักศึกษาด้วยเหตุผลทางการเมือง
หรือแม้แต่ท่าทีที่ ‘ดอน’ ตอบโต้คำบรรยายของ ทักษิณ ชินวัตร ที่สถาบันนโยบายโลก สหรัฐฯ ต่อการเมืองในไทยขณะนั้นว่า
“เรารู้ทั้งรู้ว่าเรื่องนี้เกิดจากอะไร เรื่องหมากัดคนจึงไม่ควรถูกนำไปลง “
และย้ำว่าโลกไม่ได้ล้อมประเทศไทย เพราะเรามีความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ แต่มีคนไม่กี่คนที่ไปล้อมประเทศไทยจนเกิดประเด็นขึ้นมา
บทบาทในระยะแรกจึงเน้นการทูตในประเทศ ปรับทัศนคติ แก้ต่าง เป็นหลัก เน้นภาพลักษณ์รัฐบาลทหารโดยการไปเยือนสหรัฐฯ ในสมัยปธน.ทรัมป์ ซึ่งแทบจะไม่ได้ปลุกการทูตไทยที่หลับใหลให้ตื่นขึ้นมา
ถัดมาในปี 2562 บทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน ภาพรวมไม่ได้ฉายความเป็นสถาปนิกที่ก่อตั้งอาเซียนให้โดดเด่นเท่าไหร่นัก ประกอบกับการประกาศแผนในเวทีที่จะทำให้ภูมิภาคมีสันติภาพกลับย้อนแย้งกับการแสดงออกหลายๆ อย่างที่ผ่านมา
สำหรับการแก้ไขปัญหาเมียนมาร์ หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ยังคงถ้อยทีถ้อยอาศัย มิได้คัดค้านการดำรงอยู่ของคณะรัฐประหารอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลจุดยืนความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐบาลเป็นเหตุหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม
การจัดประชุม APEC2022 ที่สื่อถึงความยั่งยืนของไทย แม้จะได้การยอมรับในหลากหลายเวทีแต่นั่นคือตัวแสดงหลักในการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องทำหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม
เราเคยตั้งเป้าเรื่อง Soft power ตั้งแต่ทูตดอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ในปี 2558 จนบัดนี้เราก็ยังคุยเรื่องการผลักดันเรื่องดังกล่าวอยู่ ความคืบหน้าก่อนมีคำว่า 5F มีหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถามภาพลักษณ์ของท่านรมต.ดอน หลายครั้ง ต่อการเรียกร้องสปิริตให้ลาออก กับคำพูดที่ว่า “การแสดงสปิริตให้ไปเรียกร้องกับนักกีฬา” หรือแม้แต่การบอกว่าตนทราบล่วงหน้าก่อนสหรัฐฯ บุกอิหร่าน เหมาะสมหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม
ขมวดตอนท้ายคงสรุปได้ว่าการต่างประเทศของไทยในสมัยทูต ‘ดอน’ กับปู่ ‘ดอน’ นั่นคนละเรื่องกับความคาดหวัง
จะด้วยเหตุผลกลใด นี่คือตัวตนของท่านจริงๆ หรือไม่ หรือจำต้อง เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย คงต้องหาคำตอบ
แต่การกลับมาแก้ตัวด้วยการเชิญประเทศสมาชิกในอาเซียนในฐานะรัฐบาลรักษาการมาคุยเรื่องวิกฤตเมียนมาร์ในเวลานี้เพื่อหวังเอาที่ยืนของไทยกลับมาคงไม่ทันเสียแล้ว
คงได้แต่พูดอย่างเดียวว่า น่าเสียดาย น่าเสียดาย น่าเสียดาย…