- มติ 400 ต่อ 0 สภารับหลักการ
- กฎหมาย “ห้ามผู้ปกครองเฆี่ยนตีบุตร”
- เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 25 ก.ค.67 มีมติ 400 ต่อ 0 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) เสนอโดยพรรคก้าวไกล
สาระสำคัญเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) จากที่ระบุว่า ผู้ใช้อํานาจปกครองมีสิทธิ “ทําโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” เป็น “ทําโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทําทารุณกรรม หรือทําร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทําโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า”
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายสรุป 4 ประเด็นในร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2) หรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายไม่ตีเด็ก” เพื่อเชิญชวน สส. ทุกคนโหวตรับหลักการวาระ 1 โดยยกหลักการสำคัญในร่างฉบับนี้ คือการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กต้องมาก่อน (The best interest of the child)
(1) เราไม่อาจปฏิเสธว่าในสังคมมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้จะมีผู้อภิปรายว่าจะแก้ไขกฎหมายนี้ไปทำไม ในเมื่อมีกฎหมายอื่นเต็มไปหมดที่สามารถใช้ได้ แต่ในเมื่อข้อเท็จจริงยังมีความรุนแรงที่กระทำกับเด็กเกิดขึ้นดาษดื่น และพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจสิ่งที่เขียนในกฎหมายผิดไปจากเจตนารมณ์ของการออกกฎหมาย โดยเฉพาะที่ระบุ “ผู้ปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควร” คำถามคือ “ตามสมควร” มีขอบเขตอย่างไร เมื่อสภาฯ เห็นปัญหานี้ จะนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรอย่างนั้นหรือ
(2) แม้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ตั้งใจทำร้ายลูก บอกว่าแค่ “ตีให้เจ็บเพื่อให้เด็กจำ” แต่ตนมองตรงกันข้าม หลายครั้งเด็กที่เติบโตขึ้นมา เขารู้สึกเจ็บที่ต้องจำว่าครั้งหนึ่งเคยถูกใช้ความรุนแรงจากคนในครอบครัว นำไปสู่บาดแผลทั้งทางกายและทางใจ ตลอดจนโรคซึมเศร้า การนับถือตนเองต่ำ (low self-esteem) การฆ่าตัวตาย สภาพอารมณ์แปรปรวนก้าวร้าว สภาวะต่อต้านสังคม ส่งผลต่อการเรียนรู้ระยะยาว
(3) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการทบทวนร่วมกันว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2) ที่ใช้มาหลายสิบปี มีปัญหาหรือไม่ เพราะเดิมวางหลักว่าผู้ปกครองทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ปัญหาคือนิยามคำว่า “ตามสมควร” เป็นอย่างไร หลายครั้งเด็กหยุดพฤติกรรมเพราะความเจ็บปวด แต่ไม่ได้เข้าใจเหตุผลว่าผู้ปกครองลงโทษแบบนั้นเพราะอะไร ประเทศไทยวันนี้ควรไปไกลกว่าการลงโทษด้วยไม้เรียวแล้ว
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้คำมั่นโดยสมัครใจต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ว่าเราจะปรับแก้กฎหมายและควบคุมบทลงโทษว่าด้วยความรุนแรงต่อบุตรให้แล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ล่าช้ามากว่า 3 ปี จึงต้องมีการรับหลักการและศึกษากฎหมายฉบับนี้
(4) การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดหรือแก้แบบสำเร็จรูป แต่ต้องควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด บรรทัดฐาน ทำงานเชิงสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครองให้ใช้วินัยเชิงบวกเพื่อหยุดวงจรความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น การลาเลี้ยงดูบุตร เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ระบบสนับสนุนทั้งหมด