เมฆฝนทางการเมืองกำลังก่อตัวครึ้มขึ้นเป็นระยะๆ ถนนเศรษฐศิริ เขตพญาไท สถานที่ที่เคยมีผู้คนพลุกพล่านเข้าออกทางการเมืองในระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาถูกท้าทาย สถาบันแนวความคิดอนุรักษ์นิยมที่ผลิตบุคคล อุดมการณ์ทางการเมือง คร่ำหวอดไปด้วยนักการเมืองฝีปากกล้า ท้าชน กล้าตรวจสอบ แน่วแน่ในอุดมการณ์กำลังมุ่งไปสู่ปลายทางที่ไม่มีจุดหมายชัดเจน
ขบวนการอนุรักษ์นิยมที่เข้มข้น และให้มากกว่าที่เคย ค่อยๆ ดึงสปอร์ตไลท์ให้เบนแสงไปยังที่อื่นโดยที่พวกเขารู้ตัวแต่ไม่รู้ทัน ระยะเวลาปรากฏเค้าลางชัดเจนหลังรัฐประหารปี 2557 ที่กลุ่มทหารการเมืองทอดระยะเวลายาวนานจนมองเห็นว่า โจทย์ของการรัฐประหารไม่ให้เสียของนั้น คือ การเข้ามาเล่นการเมืองโดยการทำพรรคการเมืองสู้ศึกชิงชัยเลือกตั้ง
ชนิดที่ว่าอุดรอยรั่วไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนกับรุ่นพี่นายทหารเจ้าของพรรคสามัคคีธรรม เสรีมนังคสิลา เป็นต้นว่า ความชัดเจนของคำตอบในโจทย์นี้ ออกมาจากปากของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เนติบริกร กล่าวสั้นๆ ในเหตุการณ์ที่สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในปี 2558 ว่า “ทำมาตั้งนานก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา แต่เสียใจแค่วันเดียว พอวันอาทิตย์กลับไปบ้านคิดได้ว่า อ้อ เพราะเขาอยากอยู่ยาว”
ทัพทหารที่กำลังยกทัพเคลื่อนพลเข้าสู่สนามเลือกตั้ง มาพร้อมทั้งกระแสและกระสุน บีบบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์ผู้ที่เคยเป็นเจ้าของหมากบนกระดานการเมืองไทย ค่อยๆ เสีย เบี้ย เรือ ม้า เม็ด โคน และขุน ตามลำดับ
จุดพลิกผันที่ทำให้หมากกระดานเกมนี้พลิกคือ วันที่ 10 มี.ค. 62 ที่ผู้เล่นอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เดินเกมเสี่ยงด้วยการประกาศจุดยืนผ่านคลิปความยาว 33 วินาที
ถ้อยความว่า “ชัดๆ เลยนะครับ ผมจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน” โดยมีการย้ำให้ฟังชัดๆ สองรอบ จากนั้นก็ให้เหตุผลว่า “เพราะการสืบทอดอำนาจ เท่ากับ สร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”
หลังวันดังกล่าวพลิกดินพลิกฟ้าการเมืองไทยให้ไม่เหมือนเดิม และผลักให้ประชาธิปัตย์ต้องเป็นพรรคต่ำร้อย และไร้โอกาสในการเป็นแกนนำรัฐบาลด้วยการสะดุดก้อนหินก้อนใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่า อนุรักษ์นิยมไทยในขณะนั้นมีความต้องการและนิยมประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ด้วยเห็นว่า เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ และต้องการเลือกที่จะชินชากับความสงบของรัฐบาลทหารมากกว่าเลือกตามแนวความคิดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แม้ความเคี่ยวทางการเมืองจะพอมีอยู่ให้ชวน หลีกภัย ขึ้นรั้งตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติได้ และนำจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นแท่นรองนรม.และรมว.พาณิชย์ แต่ภายหลังการขึ้นนำของผู้นำพรรคคนใหม่ ประชาธิปัตย์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การเรียกร้องให้พรรคทบทวนจุดยืนในการเข้าร่วมรัฐบาล และต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรร่วมรัฐบาลต่อไป ก็เป็นคลื่นหนึ่งในพรรค ขณะที่อีกคลื่นก็อยากให้พรรคให้โอกาสคนทำงาน และหยุดแช่แข็งคนก็ผู้นำพรรคคนเก่า ท้ายที่สุดหลายเสียงเรียกร้องกดดันนำไปสู่การแห่แหนลาออก เสียทั้งเบี้ย เสียทั้งม้า เสียทั้งขุน เสียหมากแทบจะทุกตัวคนบนกระดาน คงจะสรุปให้จุรินทร์ ฟังได้ว่า การกระทำเช่นนี้ เข้าข่ายจุดอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายจุดที่อันตรายที่สุด คือจุดที่ใครก็เตือนคุณไม่ได้ก็ค่อยคลายความเช่นว่านั้นออกมา
เบี้ย เรือ ม้า เม็ด โคน ขุน ที่ออกไปได้ดิบได้ดีคงหนีไม่พ้น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” และ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” หัวหน้าพรรคและเลขาพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบัน ที่ตั้งป้อมดูดส.ส.จากประชาธิปัตย์ ชนิดที่เรียกว่า ตั้งไดโว่หน้าซอยเศรษฐศิริ ดูดพลพรรคทั้งใหญ่น้อย อย่างไตรรงค์ สุวรรณคีรี รังสิมา รอดรัศมี พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล บ้านใหญ่จุลใส จ.ชุมพร บ้านใหญ่กาญจนะ จ.สุราษฎร์ธานี บ้านใหญ่ เสนพงศ์ จ.นครศรีธรรมราช รวมไปถึงส.ส.และอดีตส.ส.ของพรรคในครั้งที่ผ่านมา
ขณะที่ฝั่งเศรษฐกิจในอดีตของพรรคอย่างกรณ์ จาติกวณิช และอรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี ออกไปตั้งป้อมสู้ใหม่ในนามพรรคกล้า และต่อมาเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า นโยบายอย่างประกันรายได้ นโยบายที่พรรคพยายามชูมาตลอด กรณ์เองก็เป็นคนต้นคิด และจัดทำ และถึงแม้ความพยายามในการดึงปริญญ์ พานิชภักดิ์เข้ามาดูเรื่องเศรษฐกิจแทน แต่ก็ไม่วายหมากตัวนี้กลับเป็นหมากตายเล่นได้ไม่ถึงครึ่งกระดานก็วายหายไป
ฝั่งคนเก่าคนแก่หลายคนที่เข้าพรรคมีมากมาย อย่างถวิล ไพรสณฑ์ และอดีตผู้สมัครส.ส.กลุ่มนิวเด็ม เลือกเดินทางต่อไปกับพรรคก้าวไกล ก็มี หรือจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ อย่างบ้านใหญ่กาญจนบุรี ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อันวาร์ สาและ หรือภูมิใจไทยอย่าง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ บ้านใหญ่อุบลราชธานี (ตระกูลสมชัย) โดยแนน บุณย์ธิดา สมชัย ก็เลือกไปต่อกับเนวิน ชิดชอบ
ประชาธิปัตย์วันนี้จึงเหลือหมากไม่กี่ตัว มีไม่กี่คน มีคนเก่าแก่สมัยชวน หลีกภัย อย่างพิสิฐ ลี้อาธรรมเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม และแม้พรรคหลังนโยบายของพรรคที่ออกไปทางแนวประชานิยมมากขึ้น หรือการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาพรรคอย่าง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค แต่กระนั้นคงเป็นการเดินที่ช้าและสายเกินไปเกินกว่าจะอวดว่าใหม่พอเมื่อเทียบกับพรรคอื่น
มองมาที่มือทำงานทางการเมืองก็เน้นเป็นบ้านใหญ่ ไม่ได้เน้นขายอุดมการณ์อย่างเก่าเคย มีไม่กี่คนในตอนนี้ที่เข้าพรรคประชาธิปัตย์แล้วสดชื่น ชิมกาแฟ คุยการเมืองกันเมื่อเห็นจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต่างคนต่างเดินกันคนละทาง ฝั่งเลขาพรรคไปทาง ฝั่งหัวหน้าพรรคไปทาง ดังที่
นายสายัณห์ สวัสดิ์ยานนท์ นายกอบต.แดนสงวน อ.ระโนด จ.สงขลา สมาชิกประชาธิปัตย์ที่มองว่า การที่กระแสความนิยมของพรรคลดลงเนื่องจากประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในพรรค โดยกล่าวว่า
“ต้องยอมรับว่า วันนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้โดดเด่น เมื่อเทียบกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่น และที่สำคัญ หากหัวหน้าพรรคไม่เด่นในภาคใต้ ก็ส่งผลต่อความไม่เด่นในที่อื่น ในภาคอีสานไม่ต้องพูดถึง ถ้าภาคใต้ไม่เป็นนิยมอันดับหนึ่ง ก็เป็นเรื่องหนักที่ประชาธิปัตย์ต้องเจอ”
หรือ นายสุรเชษ บิลสัน ชาวบ้านในอำเภอหาดใหญ่ และอดีตเคยเป็นคณะทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า สาเหตุหลักเกิดมาจากการบริหารงานของหัวหน้าพรรค และผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ก็ไม่มีความโดดเด่น
“ผมมองถึงเรื่องการบริหารงานของหัวหน้าพรรค ที่บริหารงานจนคนภายในเดินกันออกทั้งหมด แล้วก็ที่สําคัญก็คือผลงานที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ค่อยเด่นชัดเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจเป็นที่มา ทำให้ผลโพล ลดอันดับลงมา และเมื่อเป็นอย่างนี้ก็รู้สึกว่า สถาบันการเมืองที่เราเคยภาคภูมิใจในอดีตไม่เหมือนอดีต ดังที่เราเคยเห็นพรรคประชาธิปัตย์มา จึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ จึงอยากเสนอผู้บริหารควรพิจารณา
“หนึ่ง ต้องพิจารณาตัวเอง สอง พิจารณาเรื่องการทํางาน หรือการบริหารภายในพรรค ว่าเราเกิดข้อผิดพลาดประการใด หรือเราเกิดปัญหาประการใด เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด แล้วทําให้พรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเหมือนเดิม ดังเช่นที่เราเคยเห็นในอดีต”
เกิดอะไรขึ้นกับพรรคเคยใหญ่? การสะดุดขาตัวเองเมื่อปี 62 และนอนซมป่วยอย่างต่อเนื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปัตย์ในเวลานี้จึงไม่ต่างจากคนป่วยทางการเมืองไทย ที่คุ้มดีคุ้มร้าย ซมพิษไข้ ซึ่งไม่ใช่ไข้ธรรมดา
แต่เป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์อำมหิต โดนพิษยุงดูดเลือด จนคนนอกอย่าง ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.เพื่อไทย มองพรรคประชาธิปัตย์ผ่านการกล่าวในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติมาตรา 152 ว่า “นายกฯ ไม่เคยใส่ใจสภาฯ เลย ไม่เดินโหวกเหวกโวยวายอยู่ ช่วงนี้ก็เปิดคอกหาเครื่องดูด โดยเฉพาะพรรคของท่านประธาน(ชวน หลีกภัย) แหละครับ ซีดเกือบหมดแล้วครับ”
แม้หลายๆ คน ทั้งที่เคยรักทั้งที่เคยชัง ต่างมองเข้ามายังพรรคปชป.ในเวลานี้ด้วยความเห็นใจ และแอบหวังใจลึกๆ ว่าพรรคจะกลายมาเป็นพรรคแนวหน้าอนุรักษ์นิยม ที่อุดมไปด้วยปัญญาชนอีกครั้งในเวลาอันใกล้ หรือไกลมิอาจทราบได้ คงต้องรอผลการเลือกตั้งครั้งถัดไป ว่าอาการจะทรงหรือทรุดในทางการเมือง
ที่มา : https://www.songkhlafocus.com/content/63ef343f7aa437ad36d0fa13