(27 ก.พ.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เผยแพร่จดหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เนื้อหาดังนี้
ทำไมต้อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
เพราะแม้จะมีเหตุผลมากมายที่หลายคนเห็นว่าผมควรจะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบาย ๆ ซี่งจะทำให้ผมมีความสุขมากกว่า เนื่องจากชีวิตไม่ได้รู้สึกขาดแคลนอะไรแล้ว และนั่นทำให้ผมคิดแล้ว คิดอีกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจที่จะทำงานต่อ
แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งคือ ผมผูกพันกับคนที่ร่วมสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบครบ 4 ปีเต็ม ๆ ทุกคนล้วนมีความหวัง ความฝันที่จะทำงานการเมืองต่อไป ทุกคนต่างร่วมทำงานหนักกันมา
เมื่อถึงวันที่จะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้รุนแรงมาก ใครไม่พร้อมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้ ผมจะคิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ยังมีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร
นั่นเป็นเหตุผลแรก แต่ลึกไปในใจ ในความรู้สึกนึกคิด ผมมีเหตุผลส่วนตัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเหตุผลที่เกิดจากการทบทวนครั้งแล้ว ครั้งเล่า ถึงทางออกของชาติบ้านเมือง ว่าควรจะทำอย่างไรกันดี
เป็นการทบทวนที่มองผ่านเข้าไปในประสบการณ์ชีวิตของผมทั้งหมด แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ
ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังว่า อะไรที่ผมพบเจอ รับรู้ และเกิดความคิดอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิต จนสุดท้ายตัดสินใจทำงานการเมืองต่อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ด้วยการคลี่คลายปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความสดใส
ผมจะเริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ “นายทหารผู้น้อย” ค่อย ๆ เติบโตมาถึง “ผู้บัญชาการกองทัพ” ได้รับการหล่อหลอมให้ “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มาทั้งชีวิต
จนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น “จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของผม” อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ในห้วงเวลาเกือบทั้งชีวิตในราชการทหาร ด้วยจิตสำนึกดังกล่าว ผมได้รับรู้ความห่วงใยของคนในวงการต่าง ๆ ที่มีต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศ อาจจะเป็นเพราะผมเป็น “ผู้บังคับบัญชากองทัพ” เสียงความห่วงใยส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายไปที่ “นักการเมือง”
คนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่มอิลิท” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง “ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ”
และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และ “ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ”
ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น
คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์
แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ ความสามารถเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ “ระบบการเมือง” จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้าจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา
โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ “รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ” หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น
การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น “ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ” จนมาเป็น “หัวหน้าพรรค”
ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย “ระบอบประชาธิปไตย”
เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่อำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ “ประชาชน”
มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว
ความรู้ ความสามารถของ “กลุ่มอิลิท” ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า
นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง “ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ
ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่ผ่านการเห็น การรู้ การฟังทั้งชีวิต อย่างเข้าถึง “จิตวิญญาณอนุรักษ์นิยม” และเข้าใจ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ที่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศ
ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อให้ได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น และจะชี้ให้เห็นถึง “ความจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง” จากนั้นจะบอกให้รู้ว่า ทำไมผมถึงเชื่อมั่นว่า “ผมทำได้” และ “จะทำอย่างไร” หากประชาชนให้โอกาสผม
สุดท้ายนี้ขอบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วว่า จดหมายทุกฉบับเขียนขึ้นโดยทีมงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยกันกลั่นกรองสาระสำคัญที่ผมต้องการนำเสนอต่อสังคม เพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง เช่นเดียวกับตอนที่ผมเป็น ผบ.ทบ. ก็มีคณะเสนาธิการทหาร คอยช่วยเหลืองาน ดังนั้น เมื่อก้าวมาเป็นนักการเมืองผมก็มีเสนาธิการฝ่ายการเมืองมาเป็นกำลังสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตามเนื้อหาของจดหมายทุกฉบับ ที่จะเกิดขึ้นผ่านการตรวจทานจากผมแล้วและผมขอรับผิดชอบทุกตัวอักษร