โครงข่ายไปรษณีย์และโลจิสติกส์ ถือเป็นเส้นเลือดแดงของชาติที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าและบริการ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของ พรบ.กิจการไปรษณีย์ พ.ศ.2477
กฎหมายฉบับนี้ทำให้ปัจจุบัน ปณท. ต้องจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อรักษาโครงข่ายไปรษณีย์ทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมปีละ 1.2-1.4 พันล้านบาท และกลายเป็นความทระนงตัวผูกขาดการขนส่งจดหมาย ไปรษณียภัณฑ์ และพัสดุมายาวนานมีกำไรหล่อเลี้ยงองค์กร จนละเลยการพัฒนาบริการ
ในช่วงหลายปีมานี้ เมื่อการขนส่งโลจิสติกส์เอกชนเข้ามาท้าทายระบบดั้งเดิมที่อยู่มานานกว่า 140 ปี ด้วยการส่งมอบบริการที่สดใหม่กว่า รวดเร็วกว่า และถูกกว่า จากการอัดเม็ดเงินของกองทุนเทคโนโลยีต่างชาติ ที่เข้ามาวางโครงข่ายโลจิสติกส์ในประเทศ
“สงครามราคา” ที่เกิดขึ้นมาเขย่าขวัญ ปณท. ไม่ใช่แค่โดนท้าทายความเชื่อมั่นจากประชาชนที่เอือมระอาจากการทำงานแบบขอไปที ด้วยลักษณะองค์กรราชการ-รัฐวิสาหกิจ เท่านั้น
สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ กำไรหดหายลงมาจนขาดทุนสะสมกว่า 3-4 พันล้านบาท
ในปี 2562 ปณท มีรายได้ 2.7 หมื่นล้านบาท กำไร 589 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 2.3 หมื่นล้านบาท กำไร 238 ร้อยล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท ขาดทุน 1.7 พันล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 1.9 หมื่นล้านบาท ขาดทุน 3 พันล้านบาท
ล่าสุด ปี 2566 รายได้ 2 หมื่นล้านบาท พลิกกลับมากำไร 78.54 ล้านบาท
เมื่อมองตัวเลขที่ผลประกอบการดิ่งลึกไปถึง 3 พันล้านบาท แล้วพลิกกลับมายืนแดนบวกได้ เรียกได้ว่าเป็นการดิ้นรนที่ไม่ได้พึ่งพาโชคชะตาและปัจจัยภายนอกเลย เพราะเมื่อหมดสถานการณ์โควิดและพิษเศรษฐกิจซบเซา ยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ควรจะลดลง ในขณะที่อัตราการจัดส่งสินค้าและพัสดุของ ปณท. ในปี 2566 โตขึ้น 19% จึงนับว่าเป็น “ฝีมือ” บริหารจัดการล้วน ๆ
สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า การไหลเวียนของสินค้าและบริการ ซึ่งกำลังถูกท้าทายด้วย “สินค้าจีน” ล้นทะลักเข้าประเทศ และยังมีเกมการอัดฉีดเงินเข้าสนับสนุนราคาสินค้า – ค่าส่ง จากกองทุนยักษ์ต่างประเทศเข้าระบบอีคอมเมิร์ซ-โลจิสติกส์ไทยระลอกใหม่
จึงน่าจับตามองต่อไปว่า ปณท. ภายใต้การนำของ “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” จะมีอะไรให้ประหลาดใจในการแข่งขันเพื่ออยู่รอด และพยุงเส้นเลือดนี้ไว้ไม่ให้ถูกเฉือนขาดวิ่น และจะสามารถเรียกร้อง “การกำกับดูแลโลจิสติกส์” ที่เป็นธรรมได้อย่างไร?