ระเบิดเวลาลูกใหม่! นับถอยหลังเศรษฐกิจไทยคล้ายต้มยำกุ้งแล้วหรือยัง?

ระเบิดเวลาลูกใหม่! นับถอยหลังเศรษฐกิจไทยวันนี้คล้ายต้มยำกุ้งแล้วหรือยัง?

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยให้เศรษฐกิจภาคการเงิน (Financial Sector) ชี้นำเศรษฐกิจตามความเป็นจริง (Real Sector) เมื่อนั้นเศรษฐกิจเรากำลังมีปัญหา ดังจะเห็นได้จากวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่าง
ต้มยำกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์ ที่ผ่านมา

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบเศรษฐกิจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ภาคใหญ่ คือ ภาคเศรษฐกิจตามความเป็นจริง และภาคการเงิน ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกทางการตลาด โดยเศรษฐกิจตามความเป็นจริงจะคอยชี้นำว่า จะต้องผลิตอะไร จำนวนเท่าไร ผลิตอย่างไร และจำหน่ายให้กับใคร

ขณะที่เศรษฐกิจภาคการเงิน เปรียบเสมือนน้ำยาหล่อลื่น เติมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ในคราวที่ฟันเฟืองของเศรษฐกิจภาคการผลิตและบริโภคฝืดเคือง ดังจะเห็นได้จาก การปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่อง การให้สินเชื่อเงินกู้ เพื่อการบริโภคหรือการลงทุนดำเนินธุรกิจ ของสถาบันการเงินต่างๆ

หากมองย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาพหลอนที่หลายคนไม่อยากนึกถึง ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รวมตัวกันล้มละลาย หลังเศรษฐกิจเกิดภาวะโอเวอร์ฮีต มีการปล่อยกู้สินเชื่อจากสถาบันทางการเงินเป็นจำนวนมาก ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูก เข้าถึงง่าย ทำให้นักธุรกิจหลายๆ คน เลือกที่จะกู้เข้ามาลงทุน วาดหวังกอบโกยจากช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นในขณะนั้น

แต่ทว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามา ตึกรามบ้านช่องที่ผุดเป็นดอกเห็ดนั้น ไม่ได้สะท้อนเศรษฐกิจตามความเป็นจริง กล่าวคือ เกิดภาวะฟองสบู่ คือ โตข้างนอกแต่ข้างในกลวง เงินที่ไหลเข้ามาแม้จะถูกอัดฉีดเข้าไปเยอะแต่ผลลัพธ์ออกมาไม่สะท้อนความเป็นจริง ประกอบกับบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง เมื่อมีการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ ทำให้ระเบิดเวลาที่รอวันนับถอยหลังปะทุขึ้น เกิดเป็นวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” กระจายพิษร้ายไปทั่วภูมิภาค

คราวนี้มาถึงยุคปัจจุบันเศรษฐกิจ การชี้นำของภาคการเงินกลับมาในรูปแบบงบดุล (Balance sheet) ของคนที่ร้ายลึกยากจะแก้ไข เราคุ้นชินกันในชื่อ “หนี้ครัวเรือน”

โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเฉพาะตัวเลขที่เครดิตบูโรเก็บข้อมูลจากคนไทย 32 ล้านคน จากทั้งหมด 66 ล้านคน พบว่ามีหนี้สูงถึง 13.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6%

ขณะที่พบคนรุ่นใหม่มีหนี้ในระบบรวม 1.1 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 6.6% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปี 56 ถึง 46.6% สะท้อนให้เห็นถึงภาพที่ตลาดเงินเริ่มเข้ามาชี้ทิศทางของพฤติกรรมการบริโภคตามเศรษฐกิจความเป็นจริง

และยิ่งมีการอัดฉีดเพื่อการบริโภค เพิ่มตัว C (Consumption) เข้าไปเยอะๆ ผ่านการปล่อยกู้ให้สินเชื่อ หรือพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later (BNPL) การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้แม้จะให้เงินไปแล้วแต่การหาเงินมาปิดหนี้นั่นยากขึ้นยิ่งกว่า

ดังจะเห็นได้จากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ หรือ NPL มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน

หากจะสร้างรายได้ผ่านการแจกเงินแต่ไม่แจกงาน ปรับโครงสร้างทางเศรฐกิจ ระวังจะเคยตัวจนเกิดเกิดปัญหาที่ฝ่ายนโยบายเขาเรียกว่า Moral hazard คือ การคุ้นชินกับอะไรเดิมๆ เดี๋ยวแย่รัฐก็จะเข้ามาช่วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในภาคเกษตรกรรมในปัจจุบัน ซึ่งยากที่จะถอยหลังกลับแล้ว

วิกฤตินี้จึงเป็นวิกฤติ Balance sheet ที่เกิดขึ้นกับคน การแก้ปัญหาจึงแก้ยากกว่าเดิมมากเพราะเราไม่มีทางจะล้วงลูกเข้าไปได้เลยว่า คนๆ หนึ่งมีหนี้อะไร เท่าไหร่ จากในระบบหรือนอกระบบ รายได้เข้ามาจากช่องทางไหน การแก้จึงยากลำบาก ทางเดียวที่ทำได้คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างคน สร้างงาน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

เพราะหากยังเดินอยู่แบบนี้ในอนาคตคงต้องเตรียมนับถอยหลังระเบิดเวลาลูกใหม่อีกครั้ง…