เปิดแนวโน้ม ส.ว. ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ

การเมืองไทยดำเนินเข้าสู่ฉากระทึกทันที นับตั้งแต่ ส.ส.เข้ารายงานตัวที่สภาฯ มีความไม่ลงรอยในวงอำนาจปรากฏให้เห็น

ฉากแรกคือการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และฉากต่อมาคือการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

มองจากฝั่งวุฒิสมาชิก การโหวตเลือกหรือไม่เลือกพิธาเป็นนายกฯ วันนี้ ไปไกลกว่าเรื่องตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องความเชื่อ ความคิดทางการเมือง อุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังพิธา

“พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์” หนึ่งในวิป ส.ว. ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าในวันโหวตเลือกนายกฯ อาจมีการเสนอชื่ออื่นๆ เข้าแข่งขัน เช่น อนุทิน-พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นเบอร์ 1 แต่ละพรรค

ส.ว.อกนิษฐ์ ยังตีความคำว่า “เสียงส่วนใหญ่” ต่างออกไป โดยมองว่าเสียงส่วนใหญ่อยู่ในสภาฯ เวลาโหวตกัน ถึงจะรู้ว่าใครเป็นเสียงส่วนใหญ่? ใครเสียงส่วนน้อย? เอาพรรคที่เหลือมารวมกัน นั่นคือเสียงส่วนใหญ่

ทั้งยังประกาศหลักในการโหวตเลือกนายกฯ (1) เป็นคนเก่ง มีผลงานเป็นที่เชื่อถือยอมรับ (2) เป็นคนดี ปฏิบัติตามกฎหมาย (3) ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (4) นโยบายพรรค

“ส.ว.สมชาย แสวงการ” และ “ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์” ตั้งโต๊ะแถลงว่ามีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับพิธา ให้จบก่อนการโหวตเลือกนายกฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจให้กับ ส.ว.

ส.ว.สมชาย กล่าวว่า ประเด็นหุ้นสื่อ ขอเรียกร้องให้ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา และไม่มีปัญหากับการเป็นนายกฯ และจากที่ได้พูดคุยกับ ส.ว. ก็พบว่าไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น การแก้ไขมาตรา 112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 ดังนั้น การลงมติเลือกของส.ว. ขอให้มั่นใจในดุลยพินิจ และวุฒิภาวะของส.ว. ที่จะพิจารณาในประเด็นสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุข

ส.ว.เสรี ยังตบเท้าหารือประธาน กกต. ขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธา ทั้งกรณีถือครองหุ้นสื่อไอทีวี และกรณีการถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเห็นว่า กกต. ควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะมีการเลือกนายกฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ส.ว. ตัดสินใจ

ขณะที่ “ส.ว.คำนูญ สิทธิสมาน” เปิดประเด็นเรื่องการเสนอแก้ไข ม. 112 ของพรรคก้าวไกลว่า “เป็นการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข มีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 อันเป็นบทหลักมาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์หรือเสมือนเป็นการแก้รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ทางประตูหลัง นี่คือประเด็นหลักที่จะกระทบระบอบ”

หลังจากนี้ ไปจนถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายจารีตของไทยยังนัดหมายผลิตซ้ำ-กระพือข้อเสนอของพรรคก้าวไกลให้กระจายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อเสนอของ “รังสิมันต์ โรม” ที่ต้องการเสนอเปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 5 ธันวาคม เป็น 24 มิถุนายน

ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิจารณ์จาก “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อย่างรุนแรง

โดยย้ำว่า “นอกจากผมจะเห็นว่า คุณพิธา วุฒิภาวะไม่ถึงที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว ผมก็รังเกียจพรรคก้าวไกลในเรื่องนี้ด้วย คือ การไม่เคารพสถาบันเท่าที่ควรจะเป็นด้วย การเคารพนั้น แน่นอนว่า อาจมีมาก หรือ น้อย ต่างกัน แต่ควรจะมี เท่าที่ควรจะเป็น เพราะเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ขนานกันไปคือก้าวขยับของศาล รธน. ที่มีหนังสือสอบถามไปยังอัยการสูงสุด ปมการเสนอแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล


“ดร.ธนพร ศรียากูล” ย้ำว่า การขยับของศาล รธน. จะกระทบกับการเคลื่อนของพรรคก้าวไกลใน 3 ระยะ

ระยะสั้น ในเรื่องโหวตนายกฯ งานของพรรคก้าวไกลยากขึ้นไปอีก เพราะสิ่งที่ สว. ตั้งแง่สูงมากคือเรื่อง การแก้ไข ม. 112 การดำเนินงานของ ศาล รธน. จะยิ่งเป็นเหตุผลที่ สว. ใช้อ้างไม่โหวตพิธา เป็นนายกฯ (ถ้านับไป 15 วัน แล้วศาล รธน. รับคำร้อง แล้วออกคำสั่งในทันที ก็จะทำให้พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ และทำให้พรรคการเมืองในสภา ไม่กล้าโหวตให้พิธา)

ระยะกลาง ถ้าศาล รธน. พิจารณาว่าขัด ก็จะไปกระทบคดีอาญา และอาจถูกร้องต่อไปถึงขั้นยุบพรรค

ระยะยาว จะเป็นการปิดประตูแก้ไข ม. 112 เพราะคำวินิจฉัย ศาล รธน. ผูกพันทุกองค์กร

ทั้งหมดนี้ คือเหตุผล-ข้ออ้างทางการเมืองที่วุฒิสมาชิกมุ่งหมายจะใช้ เพื่อไม่ไว้วางใจให้ พิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศ!!