ท่ามกลางการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนต่อข้อเสนอโครงการ “แลนด์บริดจ์” มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาทของรัฐบาลนำโดย “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้ออกโรดโชว์แก่นักลงทุนทั่วโลก
ภายในประเทศไทย ข้อถกเถียงหลักยืนอยู่บนเรื่องของความคุ้มค่าของการลงทุน ที่ดูยังคลุมเครือและดูจะเป็นภาพฝันมากกว่าภาพจริง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่อง “แลนด์บริดจ์” แผ่นดินเชื่อมสองมหาสมุทรนี้ ไม่ได้วางอยู่บนเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเมืองระหว่างประเทศและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์ ในเวทีปาฐกถา งานสัมมนาหัวข้อ “Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ว่า
‘ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นเรื่องสำคัญต่อโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ดำรงนโยบายความเป็นกลาง และจะดำรงต่อไป’
‘การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้ชาติมหาอำนาจได้พึ่งพา โดยเฉพาะมหาอำนาจใหม่อย่าง “อินเดีย” จะกลายเป็นโอกาสและเป็น “อำนาจต่อรอง” ของไทยในเวทีโลก’
‘แลนด์บริดจ์ต้องใช้เวลา ไม่เสร็จเร็วแน่นอน คิดว่าต้องมี 10 ปีกว่าจะเสร็จทั้งหมด แต่ว่าอยากจะให้มองเหมือนกับ สนามบินสุวรรณภูมิของเราที่ติดขัดปัญหาถูกต่อต้านอยู่นาน ถ้าไม่เริ่มและทำให้เสร็จตั้งแต่เมื่อ 20 ปี ก่อน ก็อดจินตนาการไม่ได้ว่าถ้าวันนี้เรามีแค่ดอนเมืองแห่งเดียวมันจะแออัดแค่ไหน’
‘ถ้าไม่เริ่มต้น โอกาสที่เกิดขึ้นมาในอนาคตก็จะเสียไป ผมจะฝากไว้เสียนิดหนึ่งว่าเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศมีส่วนที่เกี่ยวข้องในการลงทุนใหญ่ๆ เช่นโครงการนี้’
‘ประเทศไทยยืนยันจุดยืนทางการต่างประเทศ เราเป็นประเทศที่เป็นกลางตลอด เราจะไม่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกา ประเทศจีนก็ตามที หรือแม้แต่อินเดียซึ่งแน่นอนว่ากำลังขยับเข้ามาเป็นมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่ง ผมเชื่อว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่เราจะทำขึ้นมา แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ’
‘เรายินดีที่จะร่วมทำธุรกรรมต่างๆ กับหลายประเทศ แล้วการที่เรามีโครงสร้างพื้นฐาน เมกะโปรเจกต์ระดับโลก ตั้งอยู่บนประเทศไทยเรา ก็สามารถสร้างอำนาจต่อรองให้กับทุกๆ ประเทศ ตราบใดที่เรายังเป็นคนควบคุมดูแลสินทรัพย์ทั้งหมดของโครงการ’
‘เมื่อมองปริมาณสินค้าทั่วโลกที่เราพูดกันว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่นั้น ก็เป็นเพียงการคาดคะเนเฉยๆ แต่ผมเชื่อว่าการค้าระหว่างโลกจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร การเคลื่อนไหลของสินค้าจะมีมากขึ้น เพราะเรื่องของการที่เราจะต้องดูเรื่อง Trariff ต่างๆ ที่ลดน้อยลง กำแพงภาษีต่างๆ ก็ลดลงไป การเคลื่อนย้ายสินค้าจะลื่นไหลดีขึ้น’
‘ถ้าการขนถ่ายสินค้าทั่วโลกดีขึ้น แต่เราไม่มีการโลจิสติกส์ระบบโลจิสติกส์ที่ดีที่ประหยัดเวลา ผมเชื่อว่าก็เป็นปัญหาไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอย่างเดียว เป็นภาระของโลก เพราะฉะนั้นนานาประเทศที่มองเห็นตรงนี้ จะเข้าใจว่าจุดยืนของประเทศไทยเป็นอย่างไรแล้วก็จะมาสร้างเสริมสร้างจุดแข็งให้กับประเทศไทยทางด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว’
เมื่อย้อนรอยการเมืองของเส้นทางสายไหมจีน-แหลมสุวรรณภูมิ กับการเป็น “แลนด์บริดจ์”
หากย้อนไปในอดีตหลายศตวรรษ พัฒนาการของผู้คน และนครรัฐต่างๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิล้วนเจริญเติบโตขึ้นบนความสัมพันธ์และการค้าระหว่างสองซีกโลก คือ โลกอาหรับ-ฮินดู และแผ่นดินที่ราบภาคกลางของจีน ในเส้นทางสายไหมทางทะเล หรือกล่าวได้ว่าแหลมสุวรรณภูมินี้ คือ “แลนด์บริดจ์” โดยตัวของมันเองที่เชื่อมสองสมุทร สองซีกโลกไว้
กระแสลมมรสุมในภูมิภาคนี้ทำให้กองเรือสินค้าจากอินเดียไปจีนต้องหลบพักอยู่ลึกเข้าในปากแม่น้ำ นำมาสู่การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแก่คนพื้นเมือง และก่อตั้งอาณาจักรสำคัญต่างๆ ตั้งแต่แผ่นดินใหญ่ในแหลมสุวรรณภูมิ อย่างทวารวดี หรือฟูนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนประมงในแถบหมู่เกาะชวา สุมาตรา อย่างเช่น ศรีวิชัย กลายเป็นอาณาจักรที่ทวีอำนาจมากจากการควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลในช่องแคบมะละกาและส่งต่อมรดกนั้นแก่สิงคโปร์
มหาอำนาจบนแผ่นดินใหญ่ในยุคอย่างอาณาจักรขอมโบราณ สมัยบายน (พุทธศตวรรษที่18) จึงมีการแผ่ขยายเส้นทางการค้าทางบก และเชื่อมต่อดินแดน ไม่ว่าจะเป็นจุดพักเส้นทางเดินเท้า สถานพยาบาล (อโรคยศาลา) จากศูนย์กลางนครธม พิมาย ลพบุรี (ละโว้) ไปจรดลุ่มน้ำแควที่มีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นเป็นพรมแดนธรรมชาติ ปราสาทหลักอย่างปราสาทเมืองสิงห์ที่เป็นหลักฐานการขยายอิทธิพลจากตะวันออกมายังตะวันตกสุดของแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิ อยู่ห่างจากปากน้ำเมืองทวาย ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เพียง 100 กิโลเมตรเท่านั้น
หลังจากนั้นการเมืองโลกเริ่มประสบปัญหา ภายในจีนมีความขัดแย้งยาวนานในช่วงปลายราชวงศ์หมิง (ศตวรรษที่ 17) ซึ่งเป็นผู้ให้การคุ้มครองเส้นทางสายไหม ขณะที่ฝั่งยุโรปเริ่มมีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการถึงขีดสุด และเริ่มส่งกองเรือเดินทางระยะไกลค้าขายในแถบเอเชีย และผลักดันภูมิภาคนี้เผชิญกระแสการถูกล่าอาณานิคม
นับตั้งแต่ปี 2556 รัฐบาลจีน นำโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เริ่มต้นโครงการ One Belt One Road พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อม 150 ประเทศเป็นเส้นทางเดียว
นั่นเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ที่จีนจะเป็นผู้คุ้มครองเส้นทางสายไหมใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องการเคลื่อนไหวทั้งในแง่การลงทุน และการแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองไปคุ้มกันโครงสร้างพื้นฐานทางสายไหมใหม่ด้วย
โดยเฉพาะเส้นทางทะเลซึ่งเป็นสิ่งที่ “สร้าง” อาณาจักรทั้งมวลในเอเชียอาคเนย์ แต่เส้นทางหลักจากมหาสมุทรอินเดียสู่ทะเลจีนใต้อยู่ใต้อิทธิพลตะวันตกมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ชาวดัตช์ ชาวอังกฤษ และตอนนี้เป็นสิงคโปร์ภายใต้การดูแลของพันธมิตรตะวันตก
การพัฒนาโครงการที่เรียกว่าเป็นการสานฝัน “แลนด์บริดจ์” แห่งสุวรรณภูมิอย่างแท้จริง น่าจะเป็น โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายเมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่ “จีน” และบรรดาเจ้าสัวใน “ไทย” ทุ่มทุนพัฒนา ให้เชื่อมต่อแผ่นดินและทางรถไฟส่วนใหญ่ในแหลมสุวรรณภูมิอีกครั้ง จากทวาย 100 กม. ถึงกาญจนบุรี และอีก 200 กม. ถึงกรุงเทพมหานคร
โครงการทวายจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่สะเทือนมหาอำนาจใหม่อย่างอินเดีย เพราะท่าเรือทวายที่ออกสู่อ่าวเบงกอลได้นั้นทำให้จีนสามารถลำเลียงสินค้าตลอดจนยุทธภัณฑ์จ่อพรมแดนอินเดียทางทะเล
ชะรอยว่าปัญหาสงครามภายในเมียนมาร์มาทำให้โครงการดังกล่าวชะงักลง หลายฝ่ายจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะปัดฝุ่นโครงการเชื่อมสองสมุทรแสนทะเยอทะยานนี้มาทำใหม่ ซึ่งแผนขยายอิทธิพลไปใช้แหลมมลายูเพื่อเชื่อมสมุทรเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาในดินแดนเมียนมาร์หลังเทือกเขาตะนาวศรีมีมาแต่ครั้งแผ่นดินพระนารายณ์ จนถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์แทบทุกรัชกาล แม้ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ-เต็มใบแล้ว ความใฝ่ฝัน เรื่องเชื่อมสองสมุทรยังฝังอยู่ในใจผู้มีอำนาจทุกยุคสมัย