ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 85 กำหนดให้ กกต. ต้องตรวจสอบเบื้องต้นก่อนและเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจะประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
ถ้อยความดังกล่าวเพิ่มเติมและให้อำนาจกกต.ประกาศรับรองผล โดยมีกรอบระยะเวลาภายใน 60 วัน ขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้าไม่มีการกำหนดถ้อยความดังกล่าวลงในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สภาพการณ์รับรองส.ส.ที่เกิดขึ้นโดยมีระยะเวลา ดุลพินิจเป็นตัวตั้งจึงทำให้หลังการเลือกตั้งเต็มไปด้วยสุญญากาศ
แม้จะให้อำนาจขนาดนั้นแต่หากกกต. ตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้ง ในพื้นที่ใดไม่มีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตก็ควรประกาศรับรองเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเร็ว
หากเราเปรียบเทียบดูในการเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 การเลือกตั้งครั้งนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 74.52% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,002,593 คน พรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ คือ พรรคพลังประชาชน (233 ที่นั่ง) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก (164 ที่นั่ง)
วันที่ 29 ม.ค. หลังการเลือกตั้ง 37 วัน กกต. มีมติประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส. ครบ 480 คนในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นไปตามที่ระบุให้การประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องครบ 95% หรือ 475 คน จึงจะสามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้
ขณะที่การเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. 2554 มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 75.03% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,682 คน พรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ คือ พรรคเพื่อไทย (265 ที่นั่ง) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก (159 ที่นั่ง)
วันที่ 27 ก.ค. หลังการเลือกตั้ง 24 วัน กกต.มีมติให้รับรองผลการเลือกตั้งส.ส. ครบ 496 คน จาก 500 คน โดยการรับรองครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 หลังประกาศรับรองรอบแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ค. แต่ยังไม่ครบจำนวนตามกฎหมายที่ระบุ
ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 2562 มีผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 74.69% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,239,638 คน พรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ คือ พรรคเพื่อไทย (136 ที่นั่ง) แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคอันดับสอง พรรคพลังประชารัฐ (116 ที่นั่ง) ได้จัดตั้งรัฐบาลแทนหลังรวบรวมเสียงส.ส. 19 พรรคมีการต่อรองเจรจาจัดตั้งรัฐบาลแข่งของพรรคอันดับ 2 เมื่อทอดระยะเวลาลงตัวก็ส่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่อำนาจ
และในครั้งนั้น กกต. ใช้ระยะเวลากว่า 46 วันถึงมีการประกาศรับรองส.ส. ครบตามจำนวนกฎหมายโดยรับรองไปจำนวน 498 คนจาก 500 คน
ผ่านไปกว่า 2 อาทิตย์ หลังจากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา หลายคนคาดหวังการทำงานของกกต. ถึงการใช้ดุลพินิจพิจารณาการรับรองส.ส.ในกรอบ 60 วัน ว่าควรใช้เต็มกรอบเวลาหรือไม่ ยิ่งทอดเวลามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดคำถามและความกดดันจากประชาชนมากเท่านั้น เวลานี้อาจพูดได้ว่า กกต.ต้องทำงานทั้งหลักฐานและบริหารความรู้สึกของสังคมการเมืองไทยไปพร้อมๆ กัน