สี จิ้นผิงกับมติประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 3

เมื่อวันที่ 8-11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชะตาการเมืองของประเทศจีน

การประชุมในครั้งนี้มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 คน โดยมีทั้งคณะกรรมการกรมการเมือง ผู้ว่าการมณฑล ผู้บัญชาการของเหล่าทัพ ตลอดจนผู้บริหารในคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมแบบปิดนี้

โดยก่อนที่จะมีการจัดประชุมนี้ไม่นานมีกระแสข่าวหลุดออกมาว่าการประชุมในครั้งนี้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนจะมีการออกมติประวัติศาสตร์เพื่อปูทางให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อยู่ในอำนาจได้ต่อไปในการบริหารประเทศ

แน่นอนว่ามติประวัติศาสตร์นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองของจีน และโดยเฉพาะสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการประกาศมติประวัติศาสตร์ในครั้งนี้นั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยทำเรื่องดังกล่าวเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1945 ในยุคของเหมา เจ๋อตุง ซึ่งสาระสำคัญของมติประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นคือ ทบทวนความล้มเหลวของการขับเคลื่อนแนวคิดฝ่ายซ้าย และพยายามเชิดชูแนวคิดการปฏิวัติแบบเหมา ซึ่งมติดังกล่าวช่วยให้เหมา เจ๋อตุงสามารถสถาปนาอำนาจของตัวเองได้เบ็ดเสร็จภายในพรรคคอมมิวนิสต์

ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 1981 ในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง โดยสาระสำคัญของมติประวัติศาสตร์ในครั้งนี้นั้นมุ่งเป้าโจมตีความล้มเหลวในการปฏิวัติวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็พยายามสถาปนาแนวคิดและทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิงในการเปิดประเทศรับการลงทุนจากภายนอก

จะเห็นได้ว่ามติประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ครั้งมีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อการสถาปนาอำนาจของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นๆ ทั้งยังมีเป้าหมายสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของผู้นำด้วย

น่าสนใจว่ามติประวัติศาสตร์ครั้งที่ 3 นี้เกิดขึ้นในสมัยของสี จิ้นผิง ส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่าอำนาจของสี จิ้นผิงในพรรคคอมมิวนิสต์เวลานี้อาจเทียบเท่ากับทั้งสองผู้นำอย่างเหมา เจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิงเลยก็ว่าได้

และเมื่อพิจารณามติประวัติศาสตร์ครั้งที่ 3 นี้ เราเห็นได้ชัดว่าเนื้อหาสำคัญมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และเน้นย้ำถึงบทบาทของสี จิ้นผิงในฐานะแกนกลางของพรรคในการนำพาประเทศจีนสู่การฟื้นฟูชาติให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

หากถามว่าสิ่งเหล่านี้มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ก็อาจต้องบอกว่ามติประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ช่วยยืนยันสิ่งที่เรารับรู้กันมาตลอดว่าสี จิ้นผิงน่าจะต่ออายุการเป็นผู้นำของตนภายหลังครบวาระ 2 สมัยในปีหน้านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้จีนได้มีการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องการดำรงตำแหน่งแบบไม่มีวาระของผู้นำไปแล้วก่อนหน้านี้

อีกประการสำคัญคือการรวมชาติโดยเฉพาะเรื่องของไต้หวันจะได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการกำหนดนโยบายของจีน ดังที่มีการระบุไว้ในมติประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การเมืองจีนนั้นมักมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะยังเหลือเวลาอีก 1 ปีเต็มกว่าที่จะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เพื่อเลือกคณะผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งในช่วง 1 ปีนี้อาจเกิดอะไรขึ้นในการเมืองจีนก็ได้

เพราะการที่สีจิ้นผิงและพรรคพวกขึ้นมามีอำนาจในพรรคย่อมมาพร้อมกับผู้เสียผลประโยชน์ภายในพรรคกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในระหว่าง 1 ปีนี้จึงอาจเกิดการต่อสู้กันภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นไปได้

อีกหนึ่งเรื่องที่จะชี้ชะตาสี จิ้นผิง คือการจัดการกับเรื่องโควิด 19 ซึ่งหากจีนเกิดสถานการณ์การระบาดภายในประเทศอีกครั้งก่อนการเลือกคณะผู้บริหารชุดใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าสถานะของสี จิ้นผิง ภายในพรรคอาจสั่นคลอนได้เช่นกัน

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายการต่อสู้โควิด 19 ของจีนในเวลานี้ค่อนข้างเข้มงวด และจีนเป็นชาติเดียวในโลกที่ยังคงนโยบายโควิด 19 เป็นศูนย์

ฉะนั้นช่วง 1 ปีนี้จนถึงก่อนการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า การเมืองจีนจะถือเป็นช่วงที่ร้อนแรงที่สุด และเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองทุกความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด