หนึ่งในความสำเร็จตลอดการเลือกตั้งในภาคใต้เรื่อยมาจากปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์สร้างความนิยมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดได้รับการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง บ่อยครั้งที่การศึกษาความนิยมของพรรคในพื้นที่ภาคใต้มีหลายปัจจัยเป็นเหตุสนับสนุนแต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่พรรคกำลังใช้ในอดีตเมื่อเทียบกับปัจจุบันอยู่นั้นไม่ต่างกัน นั่นคือ “ความชาญฉลาดในการวางคน”
ก่อน “ชวนฟีเวอร์”
หลังการเลือกตั้งปี 2522 พรรคกิจสังคมซึ่งครองฐานที่มั่นในพื้นที่ภาคใต้อยู่ 18 ที่นั่งซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ 2 ที่นั่ง ไม่ได้โอกาสทางการเมืองเพื่อจัดสรรตำแหน่งเก้าอี้เพื่อรับผิดชอบภายในภาค มากนัก หากแต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้โอกาสสำคัญผ่าน ชวน หลีกภัย รมว.กระทรวงยุติธรรม บัญญัติ บรรทัดฐาน รมช.กระทรวงมหาดไทย ในการสร้างฐานที่มั่น ความนิยม ผ่านการดูแลรับผิดชอบในกระทรวงที่ตนดูแล
การขยายฐานทางการเมืองผ่านพื้นที่ คน และการจัดสรรทางนโยบาย ส่งผลให้การเลือกตั้งในปี 2526 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจาก 13 ที่นั่งเป็น 25 ที่นั่งทว่าพรรคกิจสังคมได้ไปเพียง 9 ที่นั่งจาก 18 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ใช้กลวิธีเดิมในการสร้างรากฐานและความผูกพันกับคนในพื้นที่ผ่านระบบราชการ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคใต้ร่วมคณะรัฐมนตรีถึง 4 คน คือ ชวน หลีกภัย รมว.กระทรวงศึกษาธิการ สัมพันธ์ ทองสมัคร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ บัญญัติ บรรทัดฐาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และวีระ มุสิกพงศ์ รมช.กระทรวงมหาดไทย และส่งผลให้ในการเลือกตั้งในเวลาต่อมาได้รับเลือกตั้งในภาคใต้ถึง 36 ที่นั่ง
ประชาธิปัตย์ยุคหลังจากที่พิชัย รัตตกุล ลงจากตำแหน่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคหนึ่งในกลุ่ม 10 มกรา พร้อมด้วยเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ แยกตัวออกไปตั้งพรรคประชาชนมีผลต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคใต้ในขณะนั้นพอสมควร เพราะวีระ มุสิกพงศ์ ถือเป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นเลขาธิการพรรค และรู้ถึงกลไกการเข้าถึงคนได้เป็นอย่างดีทำให้การเลือกตั้งในปี 2531 พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวนที่นั่งไป 16 ที่นั่ง
“พรรคของเรา คนของเรา”
ภายใต้การนำของ ชวน หลีกภัย ซึ่งได้สร้างความนิยมอย่างต่อเนื่องผ่านการเป็นลูกชาวบ้านและดำรงตำแหน่งสำคัญมาแล้วถูกใช้ในการรณรงค์หาเสียงในฐานะ นายกฯคนใต้ ซึ่งสร้าง party identification แก่พรรคเป็นอย่างมาก การชูภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์สุจริตท่ามกลางการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเปิดเผยขณะนั้นสามารถสร้างกระแสและความผูกพันกับคนใต้ได้อย่างดี
หลังการเลือกตั้งปี 2535/2 เมื่อชวน หลีกภัยขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ในนามสโลแกน “พรรคของเรา คนของเรา” ผลจากความสำเร็จของการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใต้ต่อจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถือได้ว่าสร้างความผูกพันให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ไม่เพียงแต่หัวหน้าพรรคที่นำโดยชวน หลีกภัย แต่ยังมี บัญญัติ บรรทัดฐาน สัมพันธ์ ทองสมัคร ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อยู่ภายใต้ความสำเร็จครั้งนี้ด้วย
ชวน หลีกภัย และบัญญัติ บรรทัดฐานนั้นเป็นคนที่บุคลิกสุภาพเรียบร้อย มีหลักการ การพูดจาปราศรัยในแต่ละครั้งจึงเต็มไปด้วยวาทะและหลักการที่เชือดเฉือน ขณะที่สัมพันธ์ ทองสมัคร ฉายา หมอผี และ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในการปราศรัยแต่ละครั้งจะมีทั้งวิชาการและมุกสอดแทรกสร้างความตลกขบขันและเรียกได้ว่าการจัดทีมปราศรัยนั้น ชวน หลีกภัย จะเป็นพระเอกและไตรรงค์ สุวรรณคีรีจะปิดท้ายเพื่อให้ประชาชนรอพบรอฟังมุกของดร.ไตรรงค์ ชนิดที่เจ้าตัวบอกว่า “ลงตัวเหมือนน้ำบูดู เผ็ดเหมือนคั่วกลิ้ง มันเหมือนสะตอเผา”
การสร้างพรรคสร้างผลงาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชวน 1 กอปรให้พรรคประชาธิปัตย์ลงหลักปักฐานในภาคใต้อย่างมั่นคงและสร้างความศรัทธาและความหวังให้คนภาคใต้ยึดถือ “ชวน” เป็นไอดอล และรัฐมนตรีหลายท่านของพรรคที่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน
ในยุคสมัยการเลือกตั้งปี 2538 และ 2539 ชวน หลีกภัย ยังคงนำพรรคครองฐานที่มั่นในภาคใต้อย่างต่อเนื่องถึง 47 ที่นั่ง ภายใต้บารมีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ปราศรัยที่ใดก็จะประชาชนในพื้นที่ให้การตอบรับอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าขุนพลภาคใต้ในยุคของชวน หลีกภัย นั่นก็คือตัวของเขาเองที่ประกอบสร้างความนิยมในตัวพรรค ท่ามกลางกระแสฟีเวอร์ วีระ มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค เคยออกมาพูดในยุคนั้นว่า “ผมแพ้เสาไฟฟ้า หลักกิโลครับพี่น้อง”
คำของวีระ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เลือกที่ตัวคนแล้วแต่เลือกที่ตัวพรรคซึ่งมีนายชวน หลีกภัยเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคเองก็ให้เกียรติคนใต้อยู่เสมอ กล่าวคือ คัดเลือกผู้สมัครที่มีศักยภาพสูง มีการศึกษาดี และเป็นคนใต้ อาทิ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เหตุนี้จึงทำให้ถูกเรียกว่า เสาไฟฟ้า เนื่องจากนักการเมืองหน้าเก่าที่มีอิทธิพลกลับต้องแพ้ไปเพราะผู้สมัครประเภทดังกล่าว
ในยุคสมัยของการเลือกตั้งปี 2544 แม้ประชาธิปัตย์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งระดับประเทศแต่ฐานที่มั่นในภาคใต้ที่ยังคงเป็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนใหญ่ด้วยจำนวนถึง 48 ที่นั่งต่อ 54 ที่นั่ง และขุนพลคนสำคัญยังคงเป็นดังเช่นในครั้งที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนในการเลือกตั้งรวมถึงสโลแกนที่ลบข้อครหา เรื่องเสาไฟฟ้า อย่าง พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค หรือในยุคทักษิณ ชินวัตรที่ ใช้สโลแกน ไม่โกง ไม่กิน ไม่สิ้นชาติ
“ยุคหัวหน้าบัญญัติ”
ในสมัยการเลือกตั้งภายหลังชวน หลีกภัยลงจากตำแหน่งทางการเมือง บัญญัติเป็นหัวหน้าพรรคและการเลือกตั้งในภาคใต้ถือเป็นฐานที่มั่นหลักไปเสียแล้วประกอบกับเหตุการณ์ที่กรือเซะ ตากใบ และคำพูดนายกรัฐมนตรีต่อสาธารณะที่ว่า “จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง” ยิ่งเป็นการสร้างความปฏิปักษ์ในประชาชนภาคใต้เนื่องจากบุคลิกของคนภาคใต้ ไม่ยอมคนหลอก ไม่ยอมโดนใช้ และไม่ยอมใครหมิ่นเกียรติ ทำให้ในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ครองเก้าอี้ไปถึง 52 ที่นั่งจาก 54 ที่นั่ง
ขุนพลที่เข้ามารับผิดชอบในภาคใต้และบ่อยครั้งแม้กระแสชวนฟีเวอร์จะทำให้แทบไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นอีกแต่การปรากฏออกหน้าสื่อสาธารณะในนามตัวแทนและคนมีความสามารถก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทำงานของพรรคไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลโดยในขณะนั้น มีสุเทพ เทือกสุบรรณ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ถาวร เสนเนียม สัมพันธ์ ทองสมัคร เป็นแกนหลัก
“ใต้เงาเทพเทือก”
ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีขุนพลประจำภาคใต้คนสำคัญอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค และถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรค ชินวรณ์ บุณยเกียรติ กรรมการบริหารพรรค ในปี 2550 และ 2554 เป็นคนรับผิดชอบในพื้นที่ โดยในปี 2554 มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคใต้ในจำนวน 50 ที่นั่ง จาก 53 ที่นั่ง
สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งสามท่านดำรงตำแหน่งสำคัญ อย่าง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมีรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนใต้อีก 4 ท่านคือ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย วิทยา แก้วภราดัย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 หัวหน้าพรรคยังคงเป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติเป็นรองหัวหน้าพรรคดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้แทน ถาวร เสนเนียม ซึ่งลาออกจากกรรมการบริหารในปี 2556 ด้วยเหตุทางการเมือง และการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคขาดแกนนำคนสำคัญอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งลาออกจากพรรคไปเป็นแกนนำสำคัญของพรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมถึงการหาเสียงที่ผิดพลาดทางการเมืองนั่นคือ การไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นบุคคลที่คนใต้นิยมและอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทำให้พรรคสูญเสียที่นั่งสำคัญในหลายพื้นที่
ในปี 2562 พรรคได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 22 ที่นั่ง จาก 50 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้จำนวน 13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยได้จำนวน 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติได้ ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนจำนวน 6 ที่นั่ง และพรรครวมพลังประชาชาติไทยจำนวน 1 ที่นั่ง
ภายใต้อู๊ดด้าและนิพนธ์
หลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลาออกจากหัวหน้าพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีการปรับกรรมการบริหารใหม่ทั้งหมดและจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงมหาดไทย
ปรากฏการณ์ที่แสดงถึงศักยภาพของนิพนธ์ บุญญามณีคือการสนองนโยบาย “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือกเก่าไหลกลับ” โดยการนำ 9 สส.ซึ่งเป็นอดีตพรรคประชาธิปัตย์กลับมายังพรรคและชูเลือดใหม่อย่าง เมธี ลาบานูน ในการเปิดตัวผู้สมัครสามจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบกับการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของรัฐมนตรีอย่างจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนรวมถึงจังหวัดที่มีการค้าสำคัญ
ขุนพลภาคใต้อีกคนหนึ่งคือ เดชอิศม์ ขาวทอง หรือนายกชาย ซึ่งมีบารมีอย่างมากในพื้นที่จังหวัดสงขลา ถือเป็นหนึ่งในสามสหายของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน คือ ธรรมนัส ชาดา และเดชอิศม์ ผลงานที่ผ่านมาคือการนำพรรคชนะการเลือกตั้งในศึกท้องถิ่น (อบจ) ซึ่งมีคู่แข่งคือ สุชาติ จันทรโชติกุล
ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 62 นี้มีรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 7 ท่าน และ 3 ท่านเป็นรัฐมนตรีจากภาคใต้ นอกจากสองคนข้างต้น ยังมีสินิตย์ เลิศไกร รมช.กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และการนำคนใต้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในครั้งนี้จะนำให้พรรคสามารถครองฐานที่มั่นใหม่อีกครั้งเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องของเวลาที่จะพิสูจน์ในอนาคตต่อไป
อนึ่ง แม้ขุนพลภาคใต้จะขาดชื่อของ ชวน หลีกภัย ในยุคหลัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแส “ชวนฟีเวอร์” และการนำรูปของ ชวน หลีกภัย ประกบผู้สมัครรับเลือกตั้งในทุกยุคสมัยยังคงมีอิทธิพลและส่งผลให้ได้รับชัยชนะอยู่เสมอ เพียงแต่ที่ผู้เขียนไม่ได้นำมาไว้เนื่องจากต้องการเทียบให้เห็นคนที่บริหารจัดการในการเลือกตั้งในแต่ละครั้งในพื้นที่ภาคใต้เพียงเท่านั้น
อ้างอิง
วารุณี ลีเลิศพันธ์ (2560), “การสร้างฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้”,ดุษฎีนิพนธ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ภาวิณี คงฤทธิ์ (2563), “‘คนดี’ ในสายตาพี่บ่าว ถอดรหัสวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้”, Decode, https://decode.plus/20200904/
Spring news (2564), “ความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดา เดชอิศม์ – ชาดา – ธรรมนัส ในระดับพี่น้องร่วมสาบาน ?”, https://www.springnews.co.th/news/813389
Thai Publica (2561), ““ศึกใน – ศึกนอก” 13 ปี เก้าอี้หัวหน้าพรรคของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” #MakeMyMark ร่วมสร้างใหม่ไปกับมาร์ค”, Thai Publica, https://thaipublica.org/2018/10/thailand-election-2562-26/