คิดได้ไง? รถทหารวิ่งแทนรถบรรทุกประท้วง

1 เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันอย่างหนักซึ่งเป็นผลสำคัญมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ของหลายประเทศเริ่มคลี่คลายมากยิ่งขึ้น การเปิดเมืองและระบบเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในช่วงแรกตรึงปริมาณการผลิตไว้ ไม่เพิ่มขึ้นตามจำนวนความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าราคาของน้ำมันก็ย่อมสูงขึ้นตามความต้องการของประเทศต่างๆ ที่ต้องการใช้น้ำมันเพื่อนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากซบเซามาเป็นเวลานาน

ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาราคาถูกลงมาโดยตลอด ปรับเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันจนส่งผลให้ราคาขายปลีกต้องปรับเพิ่มตามไปด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะมีกลไกเบื้องต้นในการรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันอยู่บ้าง แต่ด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ก่อนหน้านี้เราดึงเงินจำนวนมากจากหลายส่วนไปใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ความสามารถในการรับมือกับความผันผวนของราคาน้ำมันไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และนั่นทำให้การตรึงราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินไปกระทำได้ในเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคขนส่ง เพราะราคาน้ำมันก็คือต้นทุนที่สำคัญ

เหตุผลนี้เองนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวของกลุ่มรถบรรทุกซึ่งทำหน้าที่ในการขนส่งสินค้าทั่วประเทศไทยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ราว 25 บาท/ลิตร ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลยืนยันอย่างชัดเจนว่าสามารถตรึงน้ำมันดีเซลได้เพียงในระดับราคา 30 บาท/ลิตรเท่านั้น ความเห็นที่ไม่ตรงกันนี้นำมาซึ่งการตอบโต้รัฐบาลของกลุ่มรถบรรทุกโดยเฉพาะการลดจำนวนการวิ่งลง และเมื่อเร็วๆ มานี้มีการเคลื่อนขบวนมาที่กระทรวงพลังงานด้วย

แน่นอนว่ารัฐบาลยังคงยืนยันว่าไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ ที่น่าสนใจไปกว่านั้น หลังถูกท้าทายด้วยการหยุดวิ่งรถ ซึ่งคาดว่าจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม แทนที่รัฐบาลจะหาแนวทางในการหารือกับกลุ่มรถบรรทุกอย่างจริง นายกรัฐมนตรีกับมีนโยบายอันชาญฉลาดให้ทหารออกมาช่วยวิ่งรถบรรทุกทดแทนบรรดารถที่หายไปจากระบบ

แม้ว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอย่างคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จะออกมาบอกว่านโยบายดังกล่าวเป็นเพียงแผนสำรองที่จะนำมาใช้ในยามที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าบรรดาเหล่าทัพจะออกมาขานรับนโยบายดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีอย่างทันท่วงที

คำถามก็คือว่าการรับมือกับการประท้วงของกลุ่มรถบรรทุกด้วยการดึงรถบรรทุกทหารมาใช้ทดแทนนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาไปได้นานสักเพียงใด และมันจะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ สำคัญที่สุดก็คือว่าจะคิดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้ากันอย่างไร

เหตุผลที่อยากชวนตั้งคำถามเหล่านี้เพราะต้องทำความเข้าใจกันอย่างนี้ว่าระบบเดินรถขนส่งโดยเฉพาะรถบรรทุกนั้นบริหารจัดการโดยภาคเอกชน ที่ต้องมีการทำสัญญาต่างๆ กับบริษัทอื่นๆ ในการขนส่งของ ที่สำคัญคือความเสี่ยง และค่าเสื่อมของรถบรรทุกนั้น ภาคเอกชนเป็นผู้แบกรับทั้งหมด

ตรงกันข้ามหากเราลองคิดว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีถูกนำมาใช้จริงๆ คำถามคือรถบรรทุกทหารจะไปบริการบริษัทอะไรก่อน และจะทำอย่างไรหากรถไม่เพียงพอต่อจำนวนความต้องการของภาคเอกชน สิ่งเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งการเลือกให้บริการ ซึ่งคำถามต่อมาก็คือแล้วใครจะต้องเป็นผู้ถูกเลือกก่อน ใครจะเป็นผู้ถูกปฏิเสธ เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกบริษัทก็มองว่าการขนส่งสินค้าตัวเองจำเป็นด้วยกันทั้งสิ้น

อีกเรื่องคือต้นทุนจากการขนส่งดังกล่าวใครเป็นคนแบกรับ โดยเฉพาะค่าเสื่อมสภาพของรถบรรทุกทหาร และการซ่อมบำรุง เพราะเสมอมาพาหนะเหล่านี้ได้รับเงินงบประมาณภาษีของประชาชนทั้งประเทศในการบำรุงรักษา ฉะนั้นหากเสียหายในการปฏิบัติภารกิจจะนำเงินของภาคเอกชนมาใช้ หรือใช้ภาษีของประชาชนในการซ่อมบำรุง

แค่เพียงสองประเด็นข้างต้นนี้นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่คิดขึ้นมาก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ยังไม่นับรวมเรื่องความชำนาญเส้นทางในการขนส่งสินค้า ที่จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนในการดำเนินนโยบายนี้เข้าไปอีก ฉะนั้นกล่าวได้ว่าการนำรถบรรทุกทหารมาวิ่งแทนรถบรรทุกแทบจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากๆ ทั้งที่ต้นเหตุสำคัญคือเรื่องราคาน้ำมันกับการบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มรถบรรทุก ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีมือเศรษฐกิจเยอะแยะมากมาย เหตุใดจึงมีนโยบายที่แปลกประหลาดเช่นนี้ออกมาได้ จนเป็นต้นเหตุให้คนเขาดูถูกได้ว่าเป็น “นโยบายสิ้นคิด”