“ให้เขาสู้ในสภาเรื่องก็ไม่ลุกลามขนาดนี้”
ปริญญา แนะ ให้ความเห็นต่างได้ถกในสภา
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าข้อเสนอ 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันฯ ของกลุ่มราษฎร นับเป็นการล้มล้างการปกครอง และมีความกังวลว่าอาจเป็นชนวนลุกลามบานปลายในอนาคต
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์รายการ THE KER สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งในช่วงท้ายของรายการ ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวว่า เราเห็นต่างกันได้ เห็นขัดแย้งกันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องอยู่ในกรอบของระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการจะไม่เอาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ จะต้องไปด้วยกันทั้ง 2 ส่วน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มุ่งคุ้มครองระบอบประชาธิปไตย ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และประมุข คือพระมหากษัตริย์
“ต้องใช้สันติภาพและความยุติธรรมเป็นทางออก ความเห็นต่างในสังคมประชาธิปไตยเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน อย่าให้คนรู้สึกว่าฝ่ายหนึ่งทำอย่างไรก็ไม่ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด ที่สำคัญกรรมการต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันรัฐจะต้องมีส่วนในการช่วยสร้างสันติภาพด้วย”
ผศ.ดร.ปริญญา แนะว่า การแก้ไขปัญหา ต้องไม่ใช่ชุมนุมทีไร ตำรวจก็ยิงแต่กระสุนยาง ถามว่าตำรวจปฎิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ เต็มที่หรือยัง ? ซึ่งหลังๆมาไม่เห็นว่า จะมีการเจรจา หรือเจรจาก็น้อยมาก หน้าที่ตำรวจต้องควบคุมฝูงชน ไม่ใช่มาตีกับฝูงชน สุดท้ายนายกรัฐมนตรีต้องยึดหลัก the king can do no wrong และให้ความเห็นต่างเหล่านี้ได้มีการพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
“เพราะการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษานั้น เกิดจากการยุบพรรคการเมืองหนึ่ง ถ้าหากให้เขาสู้ในสภาเรื่องก็ไม่ลุกลามมาถึงขนาดนี้ ผมพูดอย่างนี้เพื่อจะบอกว่าอย่าทำมากกว่านี้ เราแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ เพื่อที่จะไม่ทำผิดซ้ำ ผมเกรงว่าจะมีการใช้วิธีการแบบเดิมๆต่อไป ที่ยิ่งทำก็ยิ่งแรงขึ้น ผมหวังว่าสภายุคนี้จะอยู่ไกลสุดคือเดือนมีนาคม 2566 หวังว่าเราจะสามารถประคับประคองโดยไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดได้”