เมื่อความเหลื่อมล้ำกลายเป็นความไม่พอใจต่อรัฐบาลคาซัคสถาน

วินาทีนี้หากถามว่าสถานการณ์ความมั่นคงไหนในโลกน่าจับตามากที่สุดคงหนีไม่พ้นการประท้วงใหญ่ในคาซัคสถานซึ่งไม่ได้เกิดให้ได้เห็นเท่าใดนัก โดยเฉพาะกับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียเช่นนี้

การประท้วงใหญ่ในคาซัคสถานที่เริ่มบานปลายจนกลายเป็นความโกลาหลไปทั่วประเทศ มีการเผาสถานที่ราชการและยึดสนามบิน นอกจากนี้ยังมีการใช้อาวุธหนักโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งประจำตามส่วนราชการต่างๆ ในครั้งนี้นั้นเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ผ่านช่วงปีใหม่มาได้ไม่นาน

หากย้อนไปยังต้นสายปลายเหตุสำคัญของการลุกฮือในคาซัคสถานรอบนี้อาจมองได้ว่าเป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานภายในประเทศ จากความไม่พอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริง

นอกจากนี้รัฐบาลคาซัคสถานที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นระบอบอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังมีการทุจริตอย่างมหาศาล จนเกิดลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่คนคาซัค

โดยเฉพาะการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางด้านพลังงานของประเทศที่มีอยู่อย่างมหาศาล แต่กลับสร้างความร่ำรวยให้บางคนและบางครอบครัวเท่านั้น ในขณะที่ชาวคาซัคทั่วไป แทบไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นเลย

ปัญหาเหล่านี้สั่งสม ทับถมกันจนเริ่มก่อเป็นความไม่พอใจต่อการบริหารของรัฐบาลคาซัคสถานตลอดมา แต่น้ำผึ้งหยดสุดท้ายที่คนคาซัคตัดสินใจออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ดีให้กับชีวิตของพวกเขาคือการยกเลิกมาตรการพยุงราคา LPG ของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานเชื้อเพลิงตัวนี้ถีบตัวสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังปีใหม่

ต้องอธิบายอย่างนี้ครับว่า ก่อนหน้านี้คนคาซัคจำนวนมากได้เปลี่ยนมาใช้รถที่เติบด้วยเชื้อเพลิง LPG เป็นส่วนใหญ่ เพราะราคาของมันค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมัน ฉะนั้นเมื่อราคาพลังงานตัวนี้ปรับเพิ่มขึ้น ย่อมทำรู้สึกเหมือนโดนหลอก และไม่ได้รับความเป็นธรรมกับนโยบายนี้ของรัฐบาล

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานทั้งน้ำมัน LPG และแร่ยูเรเนียมจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปทั่วโลก

ฉะนั้นการต้องมาใช้ทรัพยากรที่ผลิตได้เองในประเทศในราคาแพง ทั้งที่คนจำนวนมากตกงาน และมีรายได้ต่ำ จึงกลายเป็นระเบิดที่ปะทุออกมาอย่างรุนแรง เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้เท่านั้น

การประท้วงเริ่มขึ้นจากพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่สำคัญของคาซัคสถาน คนงานโรงกลั่นและฐานขุดพลังงานหลายคนตัดสินใจร่วมขบวนประท้วงกับประชาชน จากการประท้วง ณ ภูมิภาคดังกล่าว ความเคลื่อนไหวก็กระจายไปทั่วประเทศโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง Nur-Sultan และเมืองใหญ่สุดของประเทศอย่าง Almaty

โดยเฉพาะสถานการณ์ใน Almaty นั้นถือได้ว่ารุนแรงอย่างมาก มีการจลาจลในหลายพื้นที่ของเมืองเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและผู้ประท้วงเป็นจำนวนมาก และนำมาซึ่งการลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคาซัคสถาน

ประธานาธิบดี Kassym-Jomart Tokayev ตัดสินใจใช้กฎหมายฉุกเฉิน ห้ามเคลื่อนย้ายและเคอร์ฟิวทั่วประเทศ นอกจากนี้เขายังได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO) ให้เข้ามาช่วยในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในคาซัคสถานด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลรักษาการยังได้ปรับนโยบายพลังงานใหม่และกลับไปพยุงราคา LPG ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงภายในประเทศ

สถานการณ์ในคาซัคสถานในรอบนี้ถือเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะนักวิเคราะห์บางคนมองว่าหากการจัดการไม่มีประสิทธิภาพอาจกลายเป็นผลกระทบไปยังประเทศในเอเชียกลางอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ไม่ต่างกันนัก และอาจกระทบต่อความมั่นคงภายในของรัสเซียด้วย