นัยยะต่อการเดินทางเยือนพม่าของปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย

นับได้ว่าสถานการณ์ในพม่านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะสถานการณ์ความรุนแรงภายหลังการยึดอำนาจของทหารในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้หลายฝ่ายมองว่าพม่ากำลังเดินถอยหลังสู่การปกครองรูปแบบเดิมอีกครั้ง หลังจากสถาปนาระบอบประชาธิปไตยมาได้เป็นเวลานานภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเรือน

แน่นอนว่าประชาคมระหว่างประเทศคาดหวังอย่างมากต่อบทบาทของอาเซียนในฐานะตัวแสดงสำคัญที่ประสานการทำงานกับพม่าได้ และยังคงให้ความสำคัญกับอาเซียนในการแสดงบทบาทเพื่อเกลี้ยกล่อมรัฐบาลทหารพม่าให้รีบทำตามสัญญาในการเปลี่ยนผ่านประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามดูเหมือนทีท่าของรัฐบาลทหารพม่าจะไม่ได้เดินไปในแนวทางตามที่ได้รับปากไว้กับอาเซียน จนเป็นเหตุให้เกิดการงดเว้นเชิญผู้นำรัฐบาลชุดใหม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด กลายเป็นคำถามใหญ่กับอาเซียนในการแก้ไขโจทย์ของพม่าในที่สุด

ทั้งนี้นอกเหนือจากบทบาทของอาเซียนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของเพื่อนบ้านของพม่าเองก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการงดเว้นที่จะวิจารณ์การเมืองภายในพม่าอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ดูเหมือนหลายชาติเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลชุดใหม่ทั้งทางตรงและทางอ้อมในบางวาระและโอกาส เช่นการเดินทางเยือนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เป็นต้น

และล่าสุดคือการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย นาย Harsh Vardhan Shringla ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมา การเดินทางเยือนครั้งนี้ถือเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียเข้าพูดคุยกับรัฐบาลพม่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในพม่า

ทั้งนี้เอกสารเผยแพร่ของกระทรวงการต่างประเทศภายหลังการเดินทางเยือนดังกล่าวเน้นย้ำชัดว่า “ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการใดๆ ภายในพม่านั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อภูมิภาคต่างๆ ของอินเดียที่อยู่ตามแนวพรมแดน” ซึ่งการเยือนครั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียได้มีโอกาสพบกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันของพม่าด้วย

โดยอินเดียมีการเรียกร้องให้พม่าเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยถึงการสร้างความร่วมมือของทั้งสองประเทศร่วมด้วย โดยเฉพาะอินเดียยืนยันให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพม่า โดยอินเดียประกาศมอบข้าวและข้าวสาลีจำนวน 10,000 ตันแก่พม่าอีกด้วย

การกระทำเช่นนี้ของอินเดียนำมาซึ่งคำถามมากมายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศดังกล่าว เพราะอินเดียถือได้ว่าเป็นหนึ่งในชาติที่ให้ความสนับสนุนอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวทางด้านประชาธิปไตย แต่ในกรณีของพม่าซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของอินเดียนั้น ท่าทีของอินเดียกลับแตกต่างจากหลายนโยบายต่างประเทศก่อนหน้า

ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อพม่าของอินเดีย อาจมองได้จากปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้

ประการแรกอินเดียมีผลประโยชน์โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการลงทุนจำนวนมากภายในพม่า ฉะนั้นการเดินเกมตามชาติอื่นที่พยายามคว่ำบาตรพม่าย่อมสร้างผลเสียหายต่ออินเดียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้พม่าเข้าหาจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค

ประการที่สองการโดดเดี่ยวพม่าซึ่งมีเป็นเพื่อนบ้านของอินเดีย ไม่เป็นประโยชน์ในการนำพาพม่าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง ตรงกันข้ามการเดินเกมเจรจาและพูดคุยกับพม่าอาจสร้างประโยชน์กับอินเดียมากยิ่งกว่าในสองมิติ คืออินเดียยังคงสามารถสานต่อผลประโยชน์และความสัมพันธ์กับพม่าได้ต่อไป ในอีกทางอินเดียยังสามารถใช้โอกาสต่างๆ ในการกดดันให้พม่าเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตย

ประการสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่อินเดียกังวลที่สุด และคงเป็นปัจจัยให้อินเดียขยับตัวเข้าพูดคุยกับพม่ามากยิ่งขึ้น คือการพบสัญญาณการรวมตัวของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนของอินเดียที่กลับมาเคลื่อนไหว และรวมกลุ่มอีกครั้งในการฝึกอาวุธซึ่งใช้พื้นที่ในฝั่งพม่าเป็นแหล่งกบดาน สิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงอย่างยิ่งต่ออินเดีย

เพราะก่อนหน้านี้อินเดียได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการกวาดล้างกลุ่มกบฏดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าตัวแสดงสำคัญที่มีส่วนช่วยให้การปฏิบัติการดังกล่าวของอินเดียราบรื่นคือไฟเขียวจากกองทัพพม่า ฉะนั้นหากกลุ่มกบฏเหล่านี้กลับมาอีกครั้ง และอินเดียยังคงขัดแย้งกับรัฐบาลทหารพม่า ปัญหาเหล่านี้จะจัดการได้ยากยิ่ง

ฉะนั้นการเดินทางเยือนพม่าของปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียในครั้งนี้ แม้จะถูกมองว่ารัฐบาลอินเดียกำลังรับรองรัฐบาลทหารพม่า แต่ในอีกด้านก็ต้องยอมรับว่าอินเดียก็ยังคงต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางด้านความมั่นคงเอาไว้ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

– บทความ India’s Foreign Secretary Visits Post-Coup Myanmar ของ Rajeswari Pillai Rajagopalan

– เอกสาร Visit of Foreign Secretary Shri Harsh Vardhan Shringla to Myanmar (December 22-23, 2021) ของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย

– บทความ Indian Rebel Outfits Regrouping in Myanmar Again ของ Rajeev Bhattacharyya