ภาคอีสานตั้งรัฐบาล ภาคใต้ล้มรัฐบาล? : สองนคราประชาธิปไตยในรูปรอยใหม่

“ศ.ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์” เจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย หนึ่งในนักวิเคราะห์ทางการเมืองไทยที่อธิบายถึงปรากฏการณ์การเมืองไทยได้อย่างแหลมคมตามข้อสรุปที่ว่า “คนชนบทนั้นตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล” และถ้ามองให้ชัดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้วจะเห็นว่าข้อสรุปนั้นเป็นจริงและมีเค้าลางอยู่ไม่น้อยและบ่อยครั้งมูลเหตุที่เกิดหลังการเมืองภายใต้การเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ มักจะเป็นในรูปรอยลักษณะที่เรียกว่า “ภาคอีสานตั้งรัฐบาล ภาคใต้ล้มรัฐบาล?”

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้รับความปราชัยในศึกเลือกตั้งซ่อม วันที่ 16 มกราคม 2565 ที่ชุมพรเขต 1 และสงขลาเขต 6 หลังมีข้อความในกลุ่มไลน์หลุดถึงความปราชัยในครั้งนี้และระบุข้อความตอนหนึ่งให้มีการทำโพลล์ชี้นำว่า พปชร.ตกต่ำเพราะธรรมนัส เป็นเลขา หรือเพราะไม่มีคนยอมรับ ซึ่งต่อมา “สุชาติ ชมกลิ่น” ผอ.การเลือกตั้งซ่อมสงขลาเขต 6 ได้มีการออกมายอมรับมาเป็นของจริง

สิ่งดังกล่าวสั่นสะเทือนถึงพรรคพลังประชารัฐ และนำไปสู่การป้ายสีวาทกรรม “เลือกคนรวย” ของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าเป็นผลให้เลือกตั้งครั้งนี้แพ้และมีการกดดันอย่างต่อเนื่องภายในพรรคเพื่อหวังผลทางการเมือง ท้ายที่สุดหลังมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัสและ ส.ส.ในกลุ่มกว่า 21 คน ออกจากพรรคและต้องสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วันนั้น

การขับออกจากสมาชิกพรรคฯ ย่อมกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอีกครั้ง เพราะผลที่ตามมาคือ การต่อรองตำแหน่งและเก้าอี้ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ และถ้าเทียบดูแล้วพรรคที่มี ส.ส. 21 คน ณ ตอนนี้ มีจำนวนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีเพียง 12 เสียงเท่านั้น จึงเป็นกระแสทางการเมืองที่จะกลายเป็นกระสุนทิ่มอกรัฐบาลได้ในเร็ววัน

ไม่เพียงแต่เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากภาคใต้สู่การสั่นสะเทือนในระดับประเทศแต่ในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วว่าคำกล่าวของสองนครารูปรอยลักษณะข้างต้นนั้นไม่เกินจริง

กรณีแรก อย่าง “10 มกรา” ที่เกิดมาจากความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากที่สุดในขณะนั้น ลงมติสวนมติของพรรคต่อกรณี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรที่เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ และผ่านด้วยคะแนนเสียง 183 ต่อ 124 โดย 31 เสียงของกลุ่ม 10 มกรา ลงมติไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ การลงมติสวนดังกล่าวนำมาสู่การลาออกของ รมต.ทั้ง 16 คนของพรรคประชาธิปัตย์และทำให้พลเอกเปรมฯ อ้างเหตุในครั้งนี้เพื่อยุบสภาฯ

“กลุ่ม 10 มกรา” เกิดขึ้นจากกรณีการแข่งขันหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างพิชัย รัตตกุล และเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ซึ่งมี วีระ มุสิกพงศ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุงและเลขาธิการพรรค ให้การสนับสนุน ซึ่งผลปรากฏว่าในวันที่ 10 มกราคม 2530 กลุ่มของเฉลิมพันธ์พ่ายแพ้และประกาศจัดตั้งกลุ่มการเมืองซึ่งรวม ส.ส.ได้ 45 คน และประกาศไม่สนับสนุนนายพิชัย แต่ยังคงสนับสนุน พล.อ.เปรมอย่างมีขอบเขต

ภายหลังจากการลงมติสวนและนำไปสู่การยุบสภาฯ กลุ่ม 10 มกรา นำโดย วีระ มุสิกพงศ์ ได้นำ ส.ส.ในกลุ่มบางส่วน และ “กลุ่มวาดะห์” ซึ่งมี ส.ส.กลุ่มนักการเมืองมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปสังกัดพรรคประชาชน ซึ่งมีเฉลิมพันธุ์เป็นหัวหน้าพรรคและวีระ เป็นเลขาธิการพรรค

กรณีที่สอง จากเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” ในวันที่ 18 พฤษภาคม กรณี สปก. 4-01 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดสรรที่ดินที่เสื่อมโทรมให้กับคนยากจนแต่พบว่ามีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน 10 ตระกูล รวมทั้งตระกูลของสามี ส.ส.อัญชลี เทพบุตร จากจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับการเอื้อประโยชน์ในครั้งนี้ด้วย เหตุดังกล่าวนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในเวลาต่อมา

หนึ่งในผู้รับผิดชอบและถูกกล่าวหาคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงและเป็นคนพิจารณาในโครงการดังกล่าวโดยตรง ท้ายที่สุดหลังการอภิปรายของฝ่ายค้านทำให้ “พรรคพลังธรรม” พรรคร่วมรัฐบาล แถลงถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลและในเวลา

ต่อมา “ชวน หลีกภัย” ส.ส.ตรัง ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาฯ ในวันเดียวกันนับเป็นเวลากว่า 2 ปี และอีก 8 เดือนในการบริหารงานของรัฐบาลหลังยุคพฤษภาทมิฬ

กรณีที่สาม จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มกปปส. ซึ่งทั้งสองกลุ่มเกิดขึ้นต่างวาระกัน กล่าวคือ กลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองเกิดขึ้นในปี 2549 ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มจารีตนิยมชนชั้นกลางและประชาชนภาคใต้ในการต่อสู้กับรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ด้วยข้อหาการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้กับพวก

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ได้รับการสนับสนุนอยู่เนืองๆ จากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคของคนใต้ แม้ภายหลังจะออกมาปฏิเสธแต่ก็ยอมรับได้ไม่ยากว่า การก้าวขึ้นมาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551 ก็เป็นผลมาจากแรงสนับสนุนของกลุ่มคนเหล่านี้

ในปี 2556 ส.ส.บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง วิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา อิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” 3 ส.ส.กทม. เป็นแกนนำกลุ่มกปปส.ในเบื้องแรก และต่อมา 153 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยื่นลาออกเพื่อกดดันการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เหตุดังกล่าวได้นำไปสู่การชุมนุมอย่างต่อเนื่องของกลุ่มกปปส. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในจังหวัดภาคใต้และฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการออกมาประท้วงและแสดงความไม่พอใจก่อนจะจบลงด้วยการรัฐประหารในปี 2557

ทั้ง 3 กรณี รวมถึงกรณีปัจจุบันของพรรคพลังประชารัฐ คงจะเป็นเหตุผลสนับสนุนทางการเมืองไม่น้อยที่พรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาลได้นั้นย่อมต้องอาศัยฐานเสียงจากภาคอีสานซึ่งมีประชากรและพื้นที่มากกว่าภูมิภาคอื่น

กลับกันเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นในหลากหลายกรณีมักล้มลงและจบด้วยการยุบสภาฯ ด้วยเหตุปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในภาคใต้ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลเหล่านั้น ด้วยเหตุผลต่างกรณีดังยกตัวอย่าง และจากการศึกษาของ วุฒิสาร ตันไชย และคณะ ได้ศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในภาคใต้ ศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดสงขลา พบว่า

“ภาคใต้มีวัฒนธรรมกระฎุมพีมากกว่าภาคอื่น มีความเป็นเสรีชนสูง ต้องการปลอดจากอำนาจรัฐ หยิ่งในศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากนัก ยกเว้นเรื่องใหญ่ๆ พึ่งตนเอง และกลุ่มก้อน หากไม่สำเร็จจึงพึ่งนักการเมือง แต่จะไม่พึ่งข้าราชการ เพราะไม่เชื่อว่าจะช่วยเหลือได้ ชอบคนพูดเก่ง ใช้สำนวนโวหารดี และคิดว่าคนที่พูดได้ดีย่อมเป็นคนเก่ง มีความรู้และความคิดเป็นระบบ มองว่าคนที่กล้าพูดคือ คนกล้าหาญมาก…”

การจะพิจารณาต่อการมองการเมืองและความเป็นขบถและการตื่นตัวของประชาชนในภูมิภาคแห่งนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งอย่างยิ่งที่ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองระดับภาคส่งผลต่อภูมิทัศน์การเมืองระดับประเทศดังปรากฏเช่นนี้

ที่มา

– ผู้จัดการออนไลน์ (2558),“วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวใต้ / จรูญ หยูทองแสงอุทัย”, https://mgronline.com/south/detail/9580000001534

– ประชาชาติ (2562) , “10 มกรา สู่ ประชาธิปัตย์พลัส รวมดาวกบฏสีฟ้า ซบพรรคคู่แข่ง”, https://www.prachachat.net/politics/news-406360

– มติชนออนไลน์ (2565), “พลังประชารัฐ เห็นพ้อง ให้ขับ ธรรมนัส-กลุ่มส.ส. พ้นพรรค หลังปิดห้องคุยถกเครียด”, https://www.matichon.co.th/politics/news_3140549

– สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2551), “สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย”,กรุงเทพฯ,พีเพรส

– อนุสรณ์ อุณโณ (2554), “คนใต้ พรรคประชาธิปัตย์ และการเมืองสีเสื้อ”, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2011/04/33845