ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ยังไม่ผ่านขั้นรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขอนำไปพิจารณาก่อน ใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน
ความน่าสนใจของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ คือการรื้อโครงสร้างผูกขาดของธุจกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เจ้า และล้วนเป็นเจ้าใหญ่ๆ
พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล มุ่งไปที่การแก้ไขกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
โดยปัจจุบัน การต้มเหล้า-เบียร์ดื่มเองและเพื่อทดลองสูตร จะต้องต้องขออนุญาตอธิบดี แต่ พ.ร.บ.สุรา ก้าวหน้า แก้ไขให้การต้มดื่มเอง, ทดลองสูตร สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผลิตเพื่อการค้าต้องขออนุญาต
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำเกณฑ์กำลังการผลิต เหล้า-เบียร์ เช่น เบียร์(ขวด) ต้อง 10 ล้านลิตรต่อปี เฉลี่ย 40,000 ขวดต่อวัน สุราพิเศษ(วิสกี้ บรั่นดี ยิน) 30,000 ลิตรต่อวัน สุราชนิดอื่นๆ (สุราขาว สุราผสม) ไม่น้อยกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน แต่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไม่กำหนดกำลังการผลิต เพื่อเปิดทางให้คนตัวเล็กตัวน้อย สามารถประกอบธุรกิจได้
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดว่า สุราชุมชน จำกัดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า แรงงานคนไม่เกิน 7 คน ขณะที่ พ.ร.บ.สุรา ก้าวหน้า ไม่กำหนด
นอกจากนี้ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ยังไม่กำหนดว่า จะอนุญาตให้ผลิตเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น นั่นหมายความว่า ไม่กำหนดประเภทของผู้ขออนุญาต
และไม่กำหนดว่า บริษัทผลิตเบียร์ ต้องมี “มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท”
การเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ พวกเขาคาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ , ลดการผูกขาดของผู้ผลิตรายใหญ่ ,เพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตร ,เพิ่มตัวเลือกให้กับประชาชน , ส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ
แหล่งข้อมูล : เฟซบุ๊ก เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, เว็บไซต์รัฐสภา, ไอลอว์