ขอเวลาอีกไม่นาน…ลำดับนายกฯ ไทยตามระยะเวลา

ท่ามกลางคลื่นเศรษฐกิจที่พัดโหมกระหน่ำประกอบกับ คลื่นแทรกใหม่ทางการเมือง อย่างปัญหากรณีความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐจนนำไปสู่การกระแทกชีพจรรัฐบาลและส่งให้ สภาล่มอยู่บ่อยครั้ง

แม้จะ ”ขอเวลาอีกไม่นาน” ของ “นายกลุงตู่” ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำพลเอกลอยเรือแป๊ะล่วงเลยลอยคอมามากกว่า 7 ปี และมีทีท่าว่าจะถ่อเรือลำนี้ต่อไปแม้เครื่องจะดับและทรุดโทรมอยู่รอมร่อ

สังเกตดูนายกฯ ไทย 4 อันดับแรก จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอมกิตติขจร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และอันดับ 4 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนใหญ่เป็นทหารวัยเกษียณที่เข้ามารับตำแหน่งต่อซึ่งล้วนแล้วแต่เข้ามาโดยวิธีพิเศษไม่ว่าจะรัฐประหารเข้ามาหรือการสืบทอดอำนาจผ่านกลไก ส.ว. รัฐที่ปรากฏขึ้นในตลอดกว่า 40 ปีของการครองอำนาจจึงเป็นไปในลักษณะการเป็นรัฐราชการ ในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ การพัฒนาประชาธิปไตยหรือการมีส่วนร่วมนับแต่วางรากฐานจึงไม่วายที่จะพิจารณาได้จากสิ่งเหล่านี้

ชวน หลีกภัย และทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นภาพจำของ 2 พรรคขั้วการเมืองใหญ่ ระหว่างเพื่อไทยตัวแทนกลุ่มรากหญ้าและประชาธิปัตย์ตัวแทนฝั่งชนชั้นกลางและอนุรักษ์นิยม ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยและจัดอยู่ในนายกฯ ตามระยะเวลาอันดับ 5 และ 6

ทั้งสองถือได้ว่าเป็นนายกจากพลเรือนหลังวิกฤติปี 35 ที่ดำรงตำแหน่งในระยะเวลาที่ยาวนานจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนทางการเมืองในหลายครั้ง ดังปรากฏในป้ายหาเสียงหรือแม้แต่การกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวของพรรค และกลายมาเป็น 2 แพร่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ชัดเจนจนถึงปัจจุบัน

พิจารณาดูจากความก่อนหน้า จะเห็นได้ว่า คู่ขัดแย้งที่สืบทอดและส่งต่อมาจากการแบ่งขั้วชัดเจนภายหลังการเลือกตั้งปี 2544 หลังพรรคประชาธิปัตย์ พรรคขนาดใหญ่ในขณะนั้นพ่ายแพ้ให้พรรคไทยรักไทย พรรคน้องใหม่ที่ทำพื้นที่ก่อนหน้าอยู่ก่อน 2-3 ปี ทำให้ อภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์ กลายเป็นตัวแทนภาพลักษณ์สองขั้วหลังรุ่นใหญ่สลับบทบาทลงไป อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทั้งสองอยู่ในวาระ เฉลี่ยเพียงแค่คนละ 2 ปีกว่าเท่านั้นเนื่องด้วยความขัดแย้งของ 2 พรรคที่รุนแรง ระหว่างมวลชนเสื้อแดงและ กลุ่ม กปปส.

ขณะเดียวกันนายทหารที่เกษียณหรือลาออกจากราชการแล้วเข้าสู่ระบอบด้วยกลไกการเลือกตั้งและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งจะเห็นได้ว่า ดำรงตำแหน่งเฉลี่ยคนละ 1-2 ปี เช่น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

ประการสุดท้ายนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จะพบว่า ล้วนแล้วแต่เกิดอุปสรรคทางการเมืองและเหตุการณ์แทรกซ้อน (อุบัติเหตุการเมือง) ต่อการจัดการด้วยกันทั้งสิ้น อาทิ กรณีสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นและยุบพรรคพลังประชาชน สุจินดา คราประยูร กรณีความพยายามในการสืบทอดอำนาจต่อจาก รสช. พลเอกชวลิต กรณีวิกฤติต้มยำกุ้ง 40 เป็นต้น

รายลำดับตามระยะเวลาของนายกรัฐมนตรีไทย หากพินิจพิจารณาแล้วจะเห็นพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของประเทศที่ถูกครอบโดยรัฐราชการทหารและระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นส่วนใหญ่

ขณะเดียวผู้นำภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็เผชิญอุปสรรคเหล่านี้ ทั้งรากฐานที่รัฐราชการทหารวางไว้จนยากที่จะฟื้นหรือแม้แต่ตัวสมาชิกที่มีลักษณะ เจ้าพ่อ และกลุ่มบ้านใหญ่เป็นหลักทำให้ต้องจัดสรรประโยชน์และเอื้อให้กับกลุ่มตัวเอง หลากหลายประการประกอบเข้าจนเป็นการเมือง 2 ขั้วใหญ่เพื่อแย่งชิงอำนาจและสุดท้ายคำตอบนำไปสู่การลงถนนที่เอื้อให้เกิดการแทรกแซงจากรัฐราชการทหารอีกครั้ง

ที่มา

– นิธิ เอียวศรีวงศ์(2560),”รัฐราชการ(1)”,มติชนออนไลน์, https://www.matichon.co.th/columnists/news_604174

– สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ(2551), ”สายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทย, กรุงเทพฯ, พีเพรส

– วิกิพีเดีย, ”รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทยเรียงตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง”, https://th.m.wikipedia.org/wiki/รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทยเรียงตามระยะเวลาดำรงตำแหน่ง