สำหรับ “ธนาธร” “ปิยบุตร” ไปจนถึงพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า หรือเรียกรวมๆ ได้ว่า “เครืออนาคตใหม่” ทุกสนามเลือกตั้ง พวกเขาจะลงชิงแข่งขัน ชนะมาก หรือ ชนะน้อย ไม่เท่าปักธงทางความคิด
สนาม กทม. ที่ฝ่ายประชาธิปไตย เรียกร้องให้สามัคคี เพื่อให้ “ชัชชาติ” แลนสไลด์แบบไร้คู่แข่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในสมการของ “เครืออนาคตใหม่” เช่นเดีวกับในการเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง ที่พวกเขาตัดสินใจส่งผู้สมัครลงชิงชัย โดยไม่หวั่นกระแสของฝ่ายประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้สามัคคี
เพราะพรรคการเมือง ต้องหยัดยืนนำเสนอแนวคิดสู่สังคม ผู้สมัครต้องหาผู้เลือกตั้งที่มีดีเอ็นเอตรงกันให้เจอ นี่คือปรัชญาอันเรียบง่ายที่ส่งต่อจากอนาคตใหม่ ถึงก้าวหน้า ก้าวไกล
เช่นเดียวกับสนามเลือกตั้งเมืองพัทยา ที่ตระกูล ‘คุณปลื้ม’ นั่งอมยิ้มบนภู มาต่อเนื่องหลายทศวรรษ มาวันนี้ กำลังเผชิญกับก้าวรุกคืบของคณะก้าวหน้า
“บ๊อบ – กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย” แคนดิเดตชิงนายกเทศมนตรีเมืองพัทยาจากคณะก้าวหน้า ประกาศวาระ “หยุดขุดถนน – เร่งฟื้นฟูเมือง – สร้างสวัสดิการ – พัทยาต้องโปร่งใส”
“พัทยาอยู่ภายใต้ผู้บริหารจากกลุ่มการเมืองเดิมมานับ 20 ปี และได้ต่ออายุด้วยมาตรา 44 ให้บริหารต่อ ผมอยากชวนตั้งคำถามว่า งบฯ เมืองพัทยาปีละ 2,000 ล้านบาท หายไปไหน และได้อะไรกลับมาตอบแทนชีวิตคนพัทยาบ้าง?”
“คำตอบคือโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ใช้งบประมาณอย่างน้อย 1,800 ล้านบาท ที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรกลับมาเลย ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือท่าจอดเรือยอร์ช 684.2 ล้านบาทที่ทุกวันนี้เหลือแต่ตอไม่มีคนจอด หรืออาคารวอเตอร์ฟรอนต์ ที่บดบังทัศนียภาพของเมืองพัทยา และได้รับการอนุญาตก่อสร้างจากเมืองพัทยาเอง”
หนึ่งในข้อวิพากษ์ผู้สมัครจากเครืออนาคตใหม่ตลอดมา คือ “คุณภาพ” ของแคนดิเดต โดยเฉพาะการเปิดตัว “วิโรจน์” ไปชกกับ “ชัชชาติ” ทว่า “ธนาธร” ชูธง “คนธรรมดาแก้ปัญหาท้องถิ่น”
“ผู้สมัครนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยาของเราคือคนที่มีความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงบ้านเกิด ที่ไม่ใช่เครือข่ายผู้มีอิทธิพล แต่เป็นคนที่บ้านน้ำท่วม ที่ร้านปิดเจ๊งช่วงโควิด นี่คือผู้สมัครของคณะก้าวหน้า”
“ทุกคนคือคนธรรมดาที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ทุกเมื่อเชื่อวันมาหลายสิบปีแล้ว และย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจและแก้ปัญหาของคนพัทยาได้ดีที่สุด”
สรุปรวมความ “ธนาธร” ประกาศแคมเปญว่า “ทวงพัทยา คืนมาเป็นของทุกคน” และส่งผลกระทบให้ตระกูลคุณปลื้มต้องระดมทุกสรรพกำลังรับมือกับศึกที่มารุมล้อม ทั้งจาก “สุชาติ ชมกลิ่น” และทั้งจากเครืออนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งทุกระดับที่จะมาถึง ในพื้นที่ที่ตัวเองเชื่อว่ายังมีอิทธิพลแข็งแกร่ง
ก้าวรุกคืบของคณะก้าวหน้า ยังไม่หยุดเท่านี้ พวกเขาเริ่ม Kick Off แคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะจัดงานใหญ่อีกครั้งในต้นเดือนเมษายน
ปิยบุตร เล่าถึงข้อเสนอของคณะก้าวหน้าที่ต้องการ เขียนหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ในรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
1. บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่น
2. บัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น มีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคง เป็นต้น นอกนั้นแล้วทำได้ทั้งหมดหากเป็นการบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น เว้นแต่บางกรณีที่ท้องถิ่นมีศักยภาพไม่เพียงพอ สามารถร้องขอให้ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเข้ามาช่วยได้
3. เรื่องความซ้ำซ้อน ทุกวันนี้มีกฎหมายจำนวนมากที่ให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคมีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะแบบเดียวกับท้องถิ่น ทำให้ซ้ำซ้อนและมีปัญหาว่าใครมีอำนาจกันแน่
4. เรื่องแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจที่บอกให้ถ่ายโอนอำนาจแต่ไม่มีสภาพบังคับจะไปจัดการเรื่องนี้ว่า ถ้าครบกำหนดแล้วยังไม่มีการถ่ายโอนให้ถือว่าเป็นอำนาจของท้องถิ่นเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญนี้
5. รับรองยืนยันว่าผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกกรณี
6. ออกกฎหมายเรื่องรายรับท้องถิ่น เสนอให้มีการเพิ่มรายได้ที่ท้องถิ่นหามาได้กับรายได้ที่ส่วนกลางได้รับเป็น ร้อยละ 50 ต่อ 50 ภายในสามปี
7. เพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ให้กับท้องถิ่นในการหารายได้ให้กับตัวเอง เพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ในการคิดค้นวิธีการรูปแบบต่างๆ ในการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น เรื่องรายได้ อย่างการกู้เงิน ออกพันธบัตร เรื่องการจัดทำบริการสาธารณะอย่าง การรวมตัวกับท้องถิ่นอื่นๆ การตั้งสหการ หรือการมอบอำนาจให้เอกชนทำแทนได้ในบางประเด็น
8. การกำกับดูแล ราชการส่วนกลางและภูมิภาคที่อ้างกำกับดูแล แต่แท้จริงแล้วเป็นการบังคับ การต้องขออนุญาตก่อน ต้องแก้ไขเพิ่มความเป็นอิสระให้ท้องถิ่นเรื่องนี้
9. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง เช่น การตั้งสภาพลเมืองท้องถิ่น การเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณด้วย
10. วางโรดแม็ปประเทศไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทำแผนการว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และภายใน 5 ปี ครม.ต้องจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่า ต้องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่
ไม่เพียงกระเพื่อมใหญ่ต่อตระกูลการเมือง ทว่ากระเพื่อมศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด นับจากนาทีนี้!!