#GotaGohome เกิดอะไรขึ้นที่ศรีลังกา จุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ

จุดเริ่มต้นวิกฤตในศรีลังกาเริ่มจากการที่รัฐบาลราชปักษาดำเนินการลดภาษีลง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 8 และยกเลิกการจัดเก็บภาษีอย่าง National Building Tax (NBT) ที่ใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ Capital gains tax ตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562

ประกอบกับการจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดของรัฐบาลและมาตรการการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักลงอันเป็นผลมาจากการประกาศ Lockdown อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประสบปัญหาในการจัดการหนี้ต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินกู้จากจีนเพื่อใช้เป็นทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

แม้ว่าศรีลังกาจะได้รับการช่วยเหลือด้านเงินกู้จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย แต่ก็ไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะสามารถจ่ายค่านำเข้าเชื้อเพลิงและอาหารที่จำเป็นแก่การบริโภคในประเทศได้ จุดชนวนความไม่พอใจจากปัจจัยเหล่านี้คุกรุ่นมากอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ทำให้ประชาชนในประเทศออกมาประท้วงคือ การประกาศห้ามไม่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างฉับพลันซึ่งเป็นผลให้เกิดผลกระทบในแง่การผลิต ผลิตชาและข้าวซึ่งเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศลดลง

ภาพรวมเศรษฐกิจศรีลังกาปัจจุบัน

การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นปัญหาและความท้าทายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หากเทียบดูทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเหลือเพียง 2 พันล้านดอลลาร์ และซ้ำร้ายรัฐบาลจะต้องชำระหนี้อีก 7 พันล้านดอลลาร์ที่ครบกำหนดในปีนี้ และแน่นอนว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของศรีลังกากว่า 81 พันล้านดอลลาร์กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักทั้งจากการบริหารที่ผิดพลาดและผลจากความขัดแย้งรัสเซียยูเครนต่อปัญหาราคาน้ำมันทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวอีกทั้งยังประสบกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงสุดในรอบหลายปี

ล่าสุดมีรายงานออกมาว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 19 ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบปีก่อนหน้า และถือเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดในเอเชีย หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในเดือนกุมภาพันธ์

ชนวนสู่การประท้วง

ประชาชนศรีลังกาเผชิญกับปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันจากการตัดกระแสไฟฟ้าเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถนำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการใช้ชีวิตที่ต้องประสบกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร และยารักษาโรค โดยเหตุประท้วงเริ่มขึ้นตั้งแต่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาหน้าพักส่วนตัวของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา

รัฐบาลตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?

รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการจับกุมและคุมขังผู้ประท้วง และออกคำสั่ง “เคอร์ฟิว” ตั้งแต่วันที่ 3 เมษาที่ผ่านมา รวมทั้งออกมาตรการจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก วอตส์แอปป์ ยูทูป ติ๊กต็อก และทวิตเตอร์ เพื่อป้องกันการประท้วงไม่ให้ขยายเป็นวงกว้าง และถึงแม้จะมีคำสั่งห้ามออกจากเคหสถาน หรือ “เคอร์ฟิว”แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการประท้วงที่เกิดขึ้นนี้ได้มีการตะโกนคำว่า “Gota go home” อย่างต่อเนื่องและแฮชแท็กสำคัญที่กำลังมาแรงบนทวิตเตอร์

ทั้งนี้กลุ่มตระกูลราชปักษายังได้พยายามออกมาแก้ไขสถานการณ์ ด้วยการยื่นข้อเสนอต่อฝ่ายค้านในการเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาแต่กลับถูกปฏิเสธจากพรรคฝ่ายค้านและเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่แทน

ศรีลังกาจากอดีตถึงปัจจุบัน

นับแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ก็เกิดปัญหาการจัดการตนเองอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหล-ชาวทมิฬ ซึ่งกินระยะเวลากว่าทศวรรษ แม้ต่อมารัฐบาลฝ่ายสิงหลจะเป็นฝ่ายชนะและยุติสงครามได้ในปี 2009 แต่มีรายงานระบุว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนและประชาชนผู้บริสุทธิ์นับแสนถูกเข่นฆ่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ความรุนแรงยังดำเนินเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม โดยเมื่อปี 2019 เกิดเหตุระเบิดในศรีลังกาส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 200 คน รัฐบาลพยายามตอบโต้ด้วยการกล่าวหาว่านี่เป็นฝีมือของกลุ่มอิสลามผู้เห็นแย้งกับประเทศ

สำหรับการก้าวขึ้นมาในทางการเมืองของตระกูลราชปักษานั้นเริ่มจากภาพการเป็น Hero ในสงครามการเมืองของอดีตนายทหารและได้รับเลือกตั้งสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยการดำเนินนโยบายของตระกูลดังกล่าวเน้นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน อาทิ การกู้เงินที่กำลังถึงกำหนดชำระในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์กับอินเดียในด้านการช่วยเหลืออื่นๆ

ท้ายที่สุดการดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่วายที่จะนำศรีลังกาเข้าสู่สนามทางการเมืองของมหาอำนาจ 2 ประเทศ และไม่พ้นการเอื้อมมือขอความช่วยเหลือจาก IMF จากการกู้เงินและการบริหารที่ผิดพลาดนั่นเอง

ที่มา

– Bloomberg, How Sri Lanka Landed in a Political and Economic Crisis and What It Means https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-04-04/how-sri-lanka-landed-in-a-crisis-and-what-it-means-quicktake

– Bloomberg, Sri Lanka Outlook Cut to Negative by S&P After Tax Cuts, https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-01-14/sri-lanka-outlook-cut-to-negative-by-s-p-after-tax-cuts